วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2554

นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างจังหวัดมุกดาหารและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร

นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างจังหวัดมุกดาหารและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร พร้อมกับบรรยายพิเศษ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษากับการเป็นประชาคมอาเซียน” ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ณ ห้องประชุมวิทยาลัยการอาชีพ นวมินทราชินีมุกดาหาร เมื่อเร็วๆ นี้

โดย รมช.ศธ. กล่าวในโอกาสนี้ว่า ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีของจังหวัดมุกดาหารที่จะได้มีการขับเคลื่อนด้านการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพของจังหวัดในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมุกดาหารต่อไปในอนาคต จากคำกล่าวรายงานทำให้ทราบว่าการจัดการศึกษาของจังหวัดมุกหารพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและมีการพัฒนาการศึกษาอย่างมุ่งมั่นที่จะให้เกิดผลสำเร็จ ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเราต้องใช้การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนและเพื่อใช้พัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ดังนั้นเป้าหมายในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนครั้งนี้เราต้องรู้จักปรับบทบาทด้านการศึกษาให้รู้ถึงศักยภาพเขาและศักยภาพเรา เพื่อการแข่งขันกับประชาคมโลกได้ ภายใต้กรอบเวลา ๒ ปี กระทรวงศึกษาธิการต้องดำเนินการพัฒนา ๕ ศักยภาพของพื้นที่ใน ๕ กลุ่มอาชีพใหม่ให้สามารถแข่งขันได้ใน ๕ ภูมิภาคหลักของโลก โดยสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ซึ่งกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แบ่งเป็น ๒ ช่วงเวลา คือ ๒ ปีแรก คือ ๒๕๕๕-๒๕๕๖ เพื่อเตรียมตัวให้มีความชัดเจนเป็นรูปเป็นร่าง มองเห็นทิศทางในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ส่วน ๒ ปีหลัง คือ ๒๕๕๗-๒๕๕๘ ต้องมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตามข้อกำหนดของประเทศสมาชิก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการเตรียมตัวน้อยมาก

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดกลุ่มอาชีพใหม่ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนี้ ๑. อาชีพใหม่ทางด้านเกษตรกรรม ๒. อาชีพใหม่ทางด้านหัตถกรรม ๓. อาชีพใหม่ทางด้านพาณิชยกรรม ๔. อาชีพใหม่ทางด้านบริการวิจัยวิชาการ และ ๕. ผู้เรียนต้องได้เรียนตามความสามารถตามความถนัด โดยนำกลุ่มอาชีพใหม่นี้มาสอดแทรกในหลักสูตรและทำอย่างสม่ำเสมอ ก็จะประสบความสำเร็จ และจะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เริ่มจากการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน/ประชาคมโลก โดยส่งเสริมพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษา การวิจัยและการพัฒนาฝึกอบรม ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษากับนานาประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนองค์และสถาบันการศึกษาของประเทศโดยทำให้เป็นศูนย์เครือข่ายการศึกษาระหว่างประเทศทั้งในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก ส่งเสริมวิจัยพัฒนาการศึกษาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของผู้เรียน ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เผยแพร่และเชื่อมโยงภูมิปัญญาไทยกับภูมิปัญญาสากล โดยเฉพาะในการทำวิจัยควรทำให้สอดคล้องกับท้องถิ่นและสามารถนำไปใช้ได้จริง กำหนดมาตรการเชิงรับเชิงรุกเพื่อเปิดรองรับเสรีทางการค้าและบริการด้านการศึกษาทั้งในระดับทวิภาคีพหุภาคี นอกจากนี้ต้องเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน เงิน และเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารความรู้ต่างๆ ที่สำคัญต้องส่งเสริมการเรียนการสอนด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาสากลให้เป็นภาษาที่สอง ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา มีการดูแลพัฒนาเด็กตามช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับปริญญาตรี เนื่องจากในข้อตกลงอาเซียนกำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาอาเซียน ดังนั้นจึงต้องฝากคุณครูในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กเพื่อเข้าสู่อาเซียนให้ได้เป็นลำดับแรก เนื่องจากการสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการติดต่อกับประเทศสมาชิก

จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหาร เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติมหาราชา บริเวณภูผาเจีย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร

*****************************************

ศศิพิชญ์ / ข่าว

วิชัย / ภาพ

กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป

อ้างอิง
http://media.thaigov.go.th/pageconfig/viewcontent/viewcontent1.asp?pageid=471&directory=1818&contents=61466

วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุปการตรวจประเมินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้ง ม.อุบลฯ มุกดาหาร

สรุปการตรวจประเมินการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในกรณีตรวจที่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดมุกดาหาร








วันอาทิตย์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2554

รัฐมนตรีฯ มอบนโยบายด้านการศึกษากับประชาอาเชียน (ที่มุกดาหาร)

วันนเสาร์ที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ฯพณฯ บุณรื่น ศรีธเรศ) ให้เกียรติเดินทางมาที่จังหวัดมุกดาหารเพื่อมอบนโยบายด้านการศึกษากับการเป็นประชาคมอาเชียน โดยกำหนดการ ฯพณฯ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงแรกจะเป็นประธานพิธีความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างจังหวัดมุกดาหาร กับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในการพัฒนา "มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ มหาราช"



กำหนดการ
บรรยายพิเศษมอบนโยบาย “การศึกษากับการเป็นประชาคมอาเซียน”
โดย ฯพณฯ บุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
วันเสาร์ที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๔
ณ ห้องประชุมวิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร

....................................................................................................

เวลา 09.00 – 10.00 น. ลงทะเบียนร่วมงาน

เวลา 10.00 – 10.10 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กล่าวต้อนรับ ฯพณฯ บุญรื่น ศรีธเรศ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เวลา 10.10 – 10.25 น. ฯพณฯ บุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างจังหวัดมุกดาหาร และ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในโครงการ “มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ มหาราชา” โดยผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร กับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

เวลา 10.25 – 11.25 น. ฯพณฯ บุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษและมอบนโยบายด้านการศึกษา ในหัวข้อ “การศึกษากับการเป็นประชาคมอาเซียน”

เวลา 11.25 น. เป็นต้นไป ฯพณฯ บุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเดินทางเยี่ยมชมการจัดการศึกษาของสถานศึกษาต่อไปนี้
- วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร
- โรงเรียนโสตศึกษามุกดาหาร
- ที่ตั้งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ มหาราชา (บริเวณภูผาเจีย ต.มุกดาหาร อ.เมืองมุกดาหาร จ.มุกดาหาร)
- โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหาร


....................................................................................................

วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

มุกดาหารกับการเป็นประชาคมอาเซียนใน พ.ศ. ๒๕๕๘ ด้านการศึกษา

ในกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วที่ทุกภาคส่วนจะต้องรู้เท่าทันเพื่อปรับตัวให้ทันต่อเหตุการณ์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดที่เป็นพื้นที่ชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของประเทศเพื่อนบ้านด้วย จังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งที่มีสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ ๒ เพื่อเชื่อมต่อไปสู่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและเวียดนามรวมทั้งสามารถไปสู่จีนและญี่ปุ่นตามลำดับ สำหรับการพัฒนาจังหวัดมุกดาหารได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ของจังหวัด คือ (๑) การพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม (๒) การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว (๓) การพัฒนาการค้าชายแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (๔) การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ (๕) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ (๖) การรักษาความมั่นคง จะเห็นว่ายุทธศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหารนั้นได้กำหนดให้มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นด้านท่องเที่ยว ด้านการค้า ซึ่งจะเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องที่การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการดังกล่าว โดยสิ่งนั้นคือ การจัดให้มีการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาขึ้นในจังหวัดมุกดาหารเพื่อสามารถผลิตบัณฑิตรองรับตามยุทธศาสตร์ข้างต้น
กล่าวสำหรับจังหวัดมุกดาหารเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ยังไม่มีสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่เป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศในเรื่องการท่องเที่ยวและการค้า ซึ่งตามรายงานผังอนุภาคกลุ่มจังหวัดมุกดาหาร นครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์ โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ ๒ การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในเขตภูมิภาคอินโดจีน (โดยจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติที่จังหวัดมุกดาหาร) จะเห็นว่ารายงานดังกล่าวได้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (๑) การเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตในการแข่งขันในเวทีนานาชาติ (๒) การพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาต่อการเกิดประชาคมอาเซียน (๓) การส่งเสริมบทบาทของอุดมศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน นอกจากนั้น ยังสอดรับกับมติคณะรัฐมนตรี แนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ในประเด็น หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด (ยุทธศาสตร์ ๑. พัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม ๒. หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด ๓. จัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดในทุกสถาบันอุดมศึกษา ๔. การสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา ๕. การสร้างบรรยากาศเพื่อปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าว)

สำหรับยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ นั้น เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมอาเซียนที่ประกอบด้วย (๑) ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (๒) ประชาคมด้านเศรษฐกิจอาเซียน และ (๓) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยเฉพาะประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนนั้นเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของอาเซียนที่ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนข้างต้นจะต้องดำเนินการ โดยเฉพาะอาจจะต้องมีการจัดทำหลักสูตรที่เกี่ยวกับสังคมศิลปวัฒนธรรมอาเซียนในมหาวิทยาลัยที่จังหวัดมุกดาหาร หรือการถ่ายโอนหน่วยกิตในหลักสูตรต่างๆ ในระดับอุดมศึกษาที่จัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร เช่น หลักสูตรการบัญชี (สากล) หลักสูตรบริหารธุรกิจนานาชาติ หลักสูตรเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เป็นต้น นอกจากนั้น การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสารระหว่างนักศึกษาอาเซียนผ่านสื่อภาษากลางของอาเซียน (อาจจะเป็นภาษาอังกฤษ) ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้ได้มากที่สุด เพื่อให้นักศึกษาของประเทศไทยได้มีศักยภาพด้านดังกล่าวเพื่อสามารถแลกเปลี่ยนถ่ายโอนการศึกษาระหว่างประเทศเพื่อนบ้านได้ ซึ่งภาษาอังกฤษก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จังหวัดมุกดาหารควรจะให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
นอกจากนั้น เนื่องจากจังหวัดมุกดาหารนักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านสามารถข้ามเดินทางมาศึกษาได้ค่อนข้างจะสะดวก ดังนั้น การส่งเสริมให้นักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านสามารถข้ามมาศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาฝั่งจังหวัดมุกดาหารก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการเป็นประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้น สำหรับประเด็นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อส่งเสริมการจัดการศึกษาประชาคมอาเซียน จังหวัดมุกดาหารสามารถดำเนินการเพื่อรองรับได้โดยปรับปรุง Website หรือ ระบบสารสนเทศด้านต่างๆ ของจังหวัดมุกดาหารให้เป็นภาษาอาเซียนหรือภาษาอังกฤษ ภาษาเวียดนาม และที่สำคัญคือภาษาจีน ซึ่งจะทำให้นักเรียนนักศึกษาในอาเซียนได้รู้จักจังหวัดมุกดาหารได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในการเดินทางมาศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร โดยเมื่อมีจำนวนนักศึกษาจำนวนมากขึ้นจังหวัดมุกดาหารจะกลายเป็นเมืองการศึกษาของอาเซียนและเมือง ICT ไปพร้อมกัน อันจะสอดรับการยุทธศาสตร์ของจังหวัดในประเด็นการพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับรายงานผังอนุภาคกลุ่มจังหวัด (โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย) การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในเขตภูมิภาคอินโดจีน อีกทั้งเป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ และประการสำคัญ คือ เป็นการดำเนินการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ.๒๕๕๘

เป็นที่น่าสังเกตว่าจังหวัดมุกดาหารนั้นมีสถาบันอุดมศึกษาแห่งหนึ่ง คือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มาดำเนินการจัดการเรียนสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร ภายใต้ ชื่อว่า “วิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี” เพื่อเป็นการสร้างโอกาสความเท่าเทียมด้านการศึกษาให้กับประชาชนในประเทศภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๘๐ รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านสังคม การสาธารณสุข การศึกษา และ วัฒนธรรม (๓) “ ...พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม...” จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของจังหวัดมุกดาหารไม่ว่าจะเป็นด้านงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร หรือหน่วยงานอื่นๆ เพื่อทำให้วิทยาเขตมุกดาหารแห่งนี้เป็นสถาบันอุดมศึกษาที่จะพัฒนารับรองการเป็นประชาคมอาเซียนของจังหวัดมุกดาหาร อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่น่าจะต้องให้ความสำคัญเช่นกัน คือ เมื่อเร็วนี้ (วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับผิดชอบพื้นที่จังหวัดภายใต้โครงการ “จับคู่มหาวิทยาลัยกับจังหวัดร่วมพัฒนาพื้นที่” โดยกำหนดให้มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครรับผิดชอบจังหวัดมุกดาหาร
ดังนั้น สิ่งที่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนจังหวัดมุกดาหารควรจะต้องร่วมกันคิดร่วมกันผลักดันให้พื้นที่จังหวัดมุกดาหารเป็นแหล่งการเรียนรู้เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียนนั้น ทุกคนต้องการอะไรอย่างไรและจะมีส่วนช่วยกันอย่างไรบ้าง หากท่านต้องการให้วิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ร่วมเป็นส่วนหนึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องได้รับการสนับสนุนร่วมกันก้าวเดินร่วมกันเพื่อทำให้ จังหวัดมุกดาหาร เป็น “MUKDAHAN” ที่ว่า M = Management U = Unity K = Knowledge D = Develop A= Ability H = Happy A = Abroad N= Natural เป็นเมืองที่มีการจัดการที่ดีสร้างสรรค์สามัคคีพัฒนาองค์ความรู้ความสามารถอันนำมาซึ่งความสุขตามธรรมชาติเพื่อรองรับเพื่อนชาวต่างชาติ ภายใต้ MUK model ที่ว่า M= Multi person U = Utility K = Knowledge สร้างสรรค์ความรู้ที่เป็นสารประโยชน์ต่อผู้คนทั้งหลาย
มนูญ ศรีวิรัตน์ **ผู้เขียน เขียนภายใต้กรอบความคิดส่วนตัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันใดๆ หากมีสิ่งที่ที่ผิดพลาดขอน้อมรับและกราบอภัยมา ณ โอกาสนี้ ใช้ประกอบการเสวนา “การศึกษากับการเป็นประชาคมอาเซียน” วันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ณ โรงแรมมุกดาแกรนด์ จังหวัดมุกดาหาร

วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2554

วิทยเขตมุกดาหาร ร่วมงานกาชาดของจังหวัด





นักศึกษา และ บุคลากร ของวิทยาเขตมุกาดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดนิทรรศการของวิทยาเขตมุกดาหารในงานกาชาดจังหวัดมุกดาหาร ระหว่างวันที่ ๗ - ๑๔ มกราคม ๒๕๕๔