วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง "หนึ่งมหาวิทยาลัย หนึ่งจังหวัด" หรือ "หนึ่งจังหวัด หนึ่งมหาวิทยาลัย"


วันนี้ (๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๓) ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๓ อุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ ปฏิรูปอุดมศึกษา ปฏิรูปประเทศไทย โดยมีเรื่องที่น่าสนใจคือ หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย (ตามรูปภาพข้างต้น ผู้เขียนคิดว่า รูป Logo ของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี น่าจะผิดพลาดไป สงสัยผู้จัดงานไม่ได้ตรวจสอบ)
ก่อนอื่นผู้เขียนขอออกตัวเสียก่อนว่า เรื่องดังกล่าวต่อไปนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวบุคคลของผู้เขียนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันองค์กรที่ผู้เขียนทำงาน หากมีสิ่งใดที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกไม่ควรผู้เขียนขอน้อมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว
ผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะได้ยินเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวตามชื่อหัวข้อข้างต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลที่ว่า "แนวทางส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่" ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแนวนโยบายดังกล่าวเมื่อวันอังคารที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง คือ ๑. พัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม ๒. หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด ๓. จัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดในทุกสถาบันอุดมศึกษา ๔. การสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา และ ๕. การสร้างบรรยากาศเพื่อปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าว
นอกจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว สำหรับจังหวัดมุกดาหารยังมีรายงานผังอนุภาคกลุ่มจังหวัด (มุกดาหาร นครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์) จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง (ที่ มท ๐๗๑๑.๒/ว ๘๑๕๔​ ลงวันที่ ๕​ พฤศจิกายน ๒๕๕๓)​ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ ๒ การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในเขตภูมิภาคอินโดจีนโดยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติ ทั้งนี้ จังหวัดมุกดาหารมีความเหมาะสมนด้านของทำเลที่ตั้งและสาธารณูปโภคที่จะรองรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา อีกทั้งในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารยังไม่มีสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังนั้น การจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติจึงเป็นการดึงดูดประชากรวัยเรียนในจังหวัดมุกดาหารให้เดินทางออกไปจากพื้นที่ลดลงและสามารถดึงดูดประชากรวัยเรียนจากจังหวัดใกล้เคียงรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านให้เข้ามาจังหวัดมุกดาหารเพิ่มมากขึ้น

ผู้เขียนขอสนับสนุนนโยบายดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจจะเกิดปัญหาอยู่บ้าง แต่ปัญหาเราก็มีไว้ให้แก้ จังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยมากที่สุด ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเก่าแก่ใหญ่ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐ ราชภัฏ ราชมงคล เอกชน และอื่นๆ อีกมากมาย ในทางตรงกันข้าม และเช่นเดียวกันในจังหวัดใหญ่ของแต่ละภาคก็มีหลายมหาวิทยาลัยในหนึ่งจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช นครราชสีมา พิษณุโลก สงขลา มหาสารคาม เชียงราย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยของเราล้วนจะมีมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล อย่างไรก็ดี บางจังหวัดไม่มีมหาวิทยาลัยหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ เป็นต้น

การที่มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากทำให้ นักเรียนนักศึกษาไม่ต้องเดินทางไปจากท้องถิ่นพื้นที่มีความเป็นอยู่ใกล้ผู้ปกครองทำให้เกิดความอบอุ่นในการดูแลให้ความรักต่อบุตรหลาน ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเรื่องของที่พักอาศัย และประการสำคัญ คือ นักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดรู้และทราบปัญหาของท้องถิ่นเป็นอย่างดี ทำให้การร่วมแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่อยากจะให้มหาวิทยาลัยเข้าไปศึกษาและร่วมแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

คำว่า "หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย" จะเป็นจริงและสำเร็จลุล่วงไปได้นั้น จะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน (ทุกกระทรวง ทบวง กรม) ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วนั้น ผู้เขียนคิดว่า บางจังหวัดก็ไม่ควรจะมีมหาวิทยาลัย ถ้าหากจังหวัดนั้นยังมีขนาดเล็กทั้งจำนวนประชากร นักเรียน นักศึกษา แต่อาจจะให้มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เข้าไปช่วยเหลือโดยอาจจะเป็นวิทยาเขต (ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัย แต่รัฐก็ควรจะสนับสนุนงบประมาณบางส่วนสำหรับการดำเนินงานของวิทยาเขตนั้นๆ) ตัวอย่างเช่น จังหวัดในภาคอีสานที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย คือ ยโสธร อำนาจเจริญ (ผู้เขียนเข้าใจว่า ที่อำนาจเจริญ มีมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ) และมุกดาหาร (ที่มี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร)

ดังนั้น เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถดำเนินงานตามแนวนโยบายของรัฐ "หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย" ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้เขียนคิดว่า ควรจะต้องเอาปัญหาของพื้นที่จังหวัด ความต้องการของจังหวัดเป็นหลัก ยุทธศาสตร์ของจังหัดเป็นหลัก แล้วในหน่วยงานจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือวิทยเขตเป็นหน่วยงานประสานกับหน่วยงานในจังหวัดไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาฯ หรือกระทรวงอื่นๆ เพื่อดำเนินการต่างๆ สำหรับจังหวัดนั้นๆ

เพื่อให้ความกระจ่างกับการดำเนินงานดังกล่าว ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเป็นแนวทางของการดำเนินงานที่จังหวัดมุกดาหาร โดยข้อเท็จจริงจังหวัดมุกดาหารมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ปัจจุบันมีอาคารเรียน ๒ หลัง คือ อาคารมุกดาลัย ๑๐๐ ปี และอาคารเทพรัตน์คุรุปการ (โดยขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ณ ภูผาเจีย พื้นที่ ๑๐๐๐ กว่่าไร โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒) และจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหาร เช่น สาขาวิชาการจัดการทั่วไป (ที่เน้นธุรกิจระหว่างประเทศ) สาชาวิชาการบัญชี เพื่อที่จะรองรับการขยายตัวการเป็นเมืองการค้าชายแดน อีกทั้ง ได้เปิดสอนสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เป็นไปตาม แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ ๒) ของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๖ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ข้อ ๑.๑ “... สำหรับการพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของบุคลากร ICT ที่มีทักษะสูงซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนนั้น ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันเฉพาะทางด้าน ICT (โดยอาจเป็นการจัดตั้งใหม่หรือยกระดับจากสถาบันการศึกษาที่มีอยู่)...” ซึ่งการสอนในรายวิชาต่างๆ นั้น ได้กำหนดให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเพิ่มทักษะให้กับนักศึกษาไม่ว่าจะเป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ D4L ที่มหาวิทยาลัยได้พัฒนาขึ้นมาในการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนและการใช้ Social Networks

สำหรับการเปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารข้างต้นสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ข้อที่ ๒, ๓ และ ๔ ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดมุกดาหารประกอบด้วย
๑.​ การพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
๒.​การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว
๓. การพัฒนาการค้าชายแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
๔.​การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ
๕​.​การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ และ
๖.​การรักษาความมั่นคง

โดยการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารได้กำหนดให้มีปรัชญา คือ “มุ่งเน้นวิชาการ สร้างสรรค์คนดี เพื่อพัฒนาสังคม” และกำหนดวิสัยทัศน์วิทยาเขตมุกดาหารเพื่อ “เป็นเลิศด้านความรู้และวิชาการโดยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการเรียนรู่ เพื่อพัฒนาศักยภาพอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” พร้อมทั้งมีการกำหนดอัตลักษณ์ คือ
๑.เป็นเลิศด้านความรู้และวิชาการโดยเน้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและภาษาต่างประเทศ
๒. เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิชาการและวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ
๓. เป็นผู้มีจิตสาธารณะในการบริการเพื่อพัฒนาสังคมและเรียนรู้อย่างยั่งยืน
ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารจะยึดหลักตามปรัชญา“เศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ​ ที่ว่า
๑.ความพอประมาณในการดำเนินงานด้านพื้นที่ใช้สอย ด้านหลักสูตรการสอน (ตามความต้องการของท้องถิ่น) ด้านการบริหารจัดการ (งบประมาณ คน)
๒.ความมีเหตุผล ในหลักสูตรที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและสถานการณ์โลก และ
๓.ความมีภูมิคุ้มกัน ที่จะต้องใช้ความร่วมมือและการสนับสนุนจากประชาชน ผู้ว่าราชการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดมุกดาหาร และ ส่วนราชการอื่นๆ
ทั้งนี้ในอนาคตมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารมุ่งเน้นที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงที่เป็นลักษณะมีความเป็นนานาชาติเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ว่า
๑. การเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตในการแข่งขันในเวทีนานาชาติ
๒.การพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาต่อการเกิดประชาคมอาเซียน และ
๓. การส่งเสริมบทบาทของอุดมศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน

โดยมีเป้าหมายเกี่ยวกับนักศึกษาและการรับนักศึกษาที่เข้าศึกษาต่อโดยใช้เกณฑ์ความดีและมีภูมิลำเนาในจังหวัดมุกดาหารและพื้นที่ใกล้เคียง คือ
๑. นักศึกษา จากลูกหลานของชาวจังหวัดมุกดาหาร (โดยได้รับทุนการศึกษาจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. ต่างๆ) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร) และนักศึกษาจากจังหวัดใกล้เคียงที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย เช่น อำนาจเจริญ ยโสธร เป็นต้น และ
๒. นักศึกษา จากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม จีน ลาว โดยในเบื้องต้นอาจจะเป็นโครงการการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ผู้สอนภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาเวียดนาม เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีแนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ และ รายงานผังอนุภาคกลุ่มจังหวัด (มุกดาหาร นครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์) จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร จึงใคร่เสนอ แผนงานพัฒนาการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ณ จังหวัดมุกดาหาร (พ.ศ. ๒๕๕๕- ๒๕๕๙) โดยมีโครงการเช่น
๑.โครงการศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร (เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาราชินี) (เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ยุทธศาสตร์ข้อที่ ๓)
๒.โครงการศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดมุกดาหารข้อที่ ๒ และ ๓ และยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘)
๓.โครงการการเปิดสอนสาขาวิชาต่างๆ ที่เน้นตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหารและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่น สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารเพื่อพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เป็นต้น

เหนือสิ่งอื่นใดที่จะทำให้โครงการหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัดมีความชัดเจนและสามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้จริงเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศโดยใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้เขียนคิดว่าจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น
๑.ประชาชนในจังหวัดเพราะผู้ปกครองจะต้องส่งเสริมให้บุตรหลานให้เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาใกล้พื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดของตน
๒.องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกระดับไม่ว่าตจะเป็น อบจ. เทศบาล อบต. จะต้องสนับสนุนงบประมาณซึ่งอาจจะเป็นการให้ทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาในท้องถิ่นของตนรวมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยการจัดบริการวิชาการหรือการทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นโดยใช้หลักวิชาการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ
๓.หน่วยงานราชการต่างๆ ในจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้ว่าราชการ ท่านหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงต่างๆ ประจำจังหวัด จะต้องให้ความร่วมมือสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือการจัดเก็บข้อมูล การจัดทำโครงการต่างๆ ที่เป็นลักษณะที่บูรณาการร่วมกันทั้งจังหวัดในการแก้ไขปัญหา
๔.สถาบันอุดมศึกษาหลักในจังหวัด ควรจะเป็นสถาบันที่มีความพร้อมที่สุดในจังหวัดทั้งด้านกำลังคน ตั้งอยู่ในที่ตั้งของจังหวัดนั้นๆ เพื่อสะดวกต่อการติดต่อประสานการดำเนินงาน


ทั้ง ๔ ส่วนข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นส่วนที่จำเป็นเป็นอย่างมากในการที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี อาจจะมีส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้การดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากยิ่งๆ ขึ้นไป

ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาและการสื่อสารเพื่อการค้าชายแดนของจังหวัดมุกดาหาร (ภาษาอังกฤษ และ ภาษาจีน) โครงการดังกล่าวอาจจะมอบให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เป็นหน่วยงานประสานดำเนินการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร และให้ผู้ว่าราชการสั่งการจัดหาผู้เข้ารับการอบรมไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบ หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม ที่สำคัญคือ การจัดอบรมดังกล่าวจะต้องมีการติดตามประเมินผล ซึ่งวิธีอาจจะให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อจะได้สอดรับกับยุทธศาสตร์ที่ว่าการสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา

สรุปเกี่ยวกับการดำเนินงาน หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย หรือจะเป็น หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด ผู้เขียนคิดว่าควรจะดำเนินการดังนี้
๑.ถามความต้องการของประชาชนผ่านจังหวัด ผ่านผู้ว่าราชการ ว่า จังหวัดต้องการจะพัฒนาอะไร (โดยอาจจะยึดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด) ต้องการให้หน่วยงานหรือสถาบันอุดมศึกษาใดเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา
๒.ถามองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบจ. อบต. เทศบาล) ว่าจะสนับสนุนงบประมาณในส่วนใดได้บ้าง ทั้งนี้จะต้องเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น
๓.ถามสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดว่าต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดหรือไม่ เพราะทุกอย่างจะประสบความสำเร็จได้นั้น ใจจะต้องมาก่อน
๔.ถามตัวเราเองว่า เราต้องการพัฒนาประเทศของเราให้น่าอยู่หรือไม่ หากถามแล้วว่าต้องการ เรามาเริ่มกันเลยตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป

มนูญ ศรีวิรัตน์