นางบุญรื่น ศรีธเรศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงระหว่างจังหวัดมุกดาหารและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร พร้อมกับบรรยายพิเศษ เรื่อง “การเตรียมความพร้อมด้านการศึกษากับการเป็นประชาคมอาเซียน” ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูคณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ณ ห้องประชุมวิทยาลัยการอาชีพ นวมินทราชินีมุกดาหาร เมื่อเร็วๆ นี้ |
โดย รมช.ศธ. กล่าวในโอกาสนี้ว่า ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีของจังหวัดมุกดาหารที่จะได้มีการขับเคลื่อนด้านการศึกษาให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นเอกภาพของจังหวัดในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมุกดาหารต่อไปในอนาคต จากคำกล่าวรายงานทำให้ทราบว่าการจัดการศึกษาของจังหวัดมุกหารพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและมีการพัฒนาการศึกษาอย่างมุ่งมั่นที่จะให้เกิดผลสำเร็จ ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนเราต้องใช้การศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อนและเพื่อใช้พัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ดังนั้นเป้าหมายในการเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนครั้งนี้เราต้องรู้จักปรับบทบาทด้านการศึกษาให้รู้ถึงศักยภาพเขาและศักยภาพเรา เพื่อการแข่งขันกับประชาคมโลกได้ ภายใต้กรอบเวลา ๒ ปี กระทรวงศึกษาธิการต้องดำเนินการพัฒนา ๕ ศักยภาพของพื้นที่ใน ๕ กลุ่มอาชีพใหม่ให้สามารถแข่งขันได้ใน ๕ ภูมิภาคหลักของโลก โดยสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียน ซึ่งกำหนดระยะเวลาในการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ในการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน แบ่งเป็น ๒ ช่วงเวลา คือ ๒ ปีแรก คือ ๒๕๕๕-๒๕๕๖ เพื่อเตรียมตัวให้มีความชัดเจนเป็นรูปเป็นร่าง มองเห็นทิศทางในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ส่วน ๒ ปีหลัง คือ ๒๕๕๗-๒๕๕๘ ต้องมีความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตามข้อกำหนดของประเทศสมาชิก ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการเตรียมตัวน้อยมาก โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้กำหนดกลุ่มอาชีพใหม่ในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ดังนี้ ๑. อาชีพใหม่ทางด้านเกษตรกรรม ๒. อาชีพใหม่ทางด้านหัตถกรรม ๓. อาชีพใหม่ทางด้านพาณิชยกรรม ๔. อาชีพใหม่ทางด้านบริการวิจัยวิชาการ และ ๕. ผู้เรียนต้องได้เรียนตามความสามารถตามความถนัด โดยนำกลุ่มอาชีพใหม่นี้มาสอดแทรกในหลักสูตรและทำอย่างสม่ำเสมอ ก็จะประสบความสำเร็จ และจะทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของกระทรวงศึกษาธิการในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เริ่มจากการปรับตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน/ประชาคมโลก โดยส่งเสริมพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษา การวิจัยและการพัฒนาฝึกอบรม ส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษากับนานาประเทศ ส่งเสริมและสนับสนุนองค์และสถาบันการศึกษาของประเทศโดยทำให้เป็นศูนย์เครือข่ายการศึกษาระหว่างประเทศทั้งในประชาคมอาเซียนและประชาคมโลก ส่งเสริมวิจัยพัฒนาการศึกษาแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของผู้เรียน ครู อาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เผยแพร่และเชื่อมโยงภูมิปัญญาไทยกับภูมิปัญญาสากล โดยเฉพาะในการทำวิจัยควรทำให้สอดคล้องกับท้องถิ่นและสามารถนำไปใช้ได้จริง กำหนดมาตรการเชิงรับเชิงรุกเพื่อเปิดรองรับเสรีทางการค้าและบริการด้านการศึกษาทั้งในระดับทวิภาคีพหุภาคี นอกจากนี้ต้องเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน เงิน และเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารความรู้ต่างๆ ที่สำคัญต้องส่งเสริมการเรียนการสอนด้านภาษา โดยเฉพาะภาษาสากลให้เป็นภาษาที่สอง ซึ่งต้องเตรียมความพร้อมของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา มีการดูแลพัฒนาเด็กตามช่วงอายุ ไม่ว่าจะเป็นระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา จนถึงระดับปริญญาตรี เนื่องจากในข้อตกลงอาเซียนกำหนดให้ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาอาเซียน ดังนั้นจึงต้องฝากคุณครูในการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้เด็กเพื่อเข้าสู่อาเซียนให้ได้เป็นลำดับแรก เนื่องจากการสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการติดต่อกับประเทศสมาชิก จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมผู้บริหาร เดินทางไปตรวจเยี่ยมสถานที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติมหาราชา บริเวณภูผาเจีย ตำบลมุกดาหาร อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร ***************************************** ศศิพิชญ์ / ข่าว วิชัย / ภาพ กลุ่มสารนิเทศ สอ.สป อ้างอิง |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น