วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ

โครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ
ขั้นตอน
๑. จังหวัดมุกดาหาร (โดยผู้ว่าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐอื่นๆ ภาคเอกชน ประชาชน และ วิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) เสนอเรื่องความต้องการและโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ ต่อ สำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบ (ซึ่งขั้นตอนนี้ จังหวัดมุกดาหาร อาจจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิต วงศ์หนองเตย) ที่จะเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดมุกดาหารในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๒๕๓ ทั้งนี้ การจัดตั้งเป็นไปตามที่ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ว่า ๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓) โดยการปรับเปลี่ยนวิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็น มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในวโรกาสที่พระองค์จะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๕๔ และจะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลำดับ
๒. เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จะต้องมีการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. . . . เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา ตามลำดับ ซึ่งจะสามารถได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานการเป็น มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ
ความหมายของสัญลักษณ์ มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ


หอแก้ว หมายถึง จังหวัดมุกดาหาร
ภูผาเจีย หมายถึง สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่มีอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์อาคารดังกล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
สะพานข้ามแม่น้ำโขง หมายถึง การเชื่อมต่อต่างประเทศเพื่อความเป็นนานาชาติ (ลาว เวียดนาม จีน และอื่นๆ)
วงกลม ๒ เส้น วงกลมเส้นใน หมายถึง ความสัมพันธ์ของอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ข้าราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนของจังหวัดมุกดาหาร ที่มีความสัมพันธ์อันดีในการพัฒนาการศึกษาร่วมกัน วงกลมเส้นนอก หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ กับหน่วยงานภายนอกพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นช้างน้าว เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร และเป็นต้นไม้ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูก ณ อาคารเทพรัตน์คุรุปการ จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒

สัญลักษณ์สัตว์นำโชคของมหาวิทยาลัย คือ ช้าง เนื่องจากชื่อเป็นของต้นไม้ประจำจังหวัดมุกดาหารและประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นช้างน้าว ดังนั้น สัญญลักษณ์สัตว์นำโชคของมหาวิทยาลัย คือ ช้าง สำหรับ ช้าง เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเป็นสัญญลักษณ์ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่พระบรมมหากษัตรย์ของไทยในอดีตทรงใช้งานสำหรับพระราชกรณียกิจที่สำคัญ
สีน้ำเงินของเส้นวงกลมและตัวอักษร หมายถึง ความมั่นคง ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
สีเหลืองของพื้นวงกลม หมายถึง ความอบอุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทุกหมู่เหล่า และความอบอุ่นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้ง เป็นสีของต้นช้างน้าว
จะเป็น มหาวิทยาลัยของชาวพื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำโขง (จังหวัดมุกดาหาร) ที่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในวโรกาสที่พระองค์จะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๕๔ และจะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลำดับ เพื่อการพัฒนาพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงภายใต้การดำเนินงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สาขาวิชาที่เปิดสอน จะเน้นสาขาวิชาตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหาร คือ (๑) การค้าระหว่างประเทศ (๒) การท่องเที่ยว เป็นต้นว่า สาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชารัฐศาสตร์ (เพื่อท้องถิ่นและต่างประเทศ) สาขาวิชานิติศาสตร์ (เพื่อท้องถิ่นและต่างประเทศ) สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาขาวิชาการจัดการพืชเศรษฐกิจพื้นที่ลุ่มน้ำโขง สาขาวิชาภาษาศาสตร์ (อังกฤษ จีน เวียดนาม) เป็นต้น ซึ่งที่สำคัญในอนาคตจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นความเป็นนานาชาติ ทั้งนี้ ในอนาคตจะเปิดสอนปริญญาโทและเอกการค้าระหว่างประเทศ โดยความร่วมมือกับ University of Melourne ออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยของจีน มหาวิทยาลัยของ สสป.ลาว และมหาวิทยาลัยของเวียดนาม
เป้าหมายการรับนักศึกษา
๑. นักศึกษา จากลูกหลานของชาวจังหวัดมุกดาหาร (โดยได้รับทุนการศึกษาจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. ต่างๆ) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร) และนักศึกษาจากจังหวัดใกล้เคียงที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย เช่น อำนาจเจริญ ยโสธร เป็นต้น
๒. นักศึกษา จากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม จีน ลาว โดยในเบื้องต้นอาจจะเป็นโครงการการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ผู้สอนภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาเวียดนาม เป็นต้น
มนูญ ศรีวิรัตน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น