วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

มติ ครม. วันที่ 21 ก.ย.53 เกี่ยวกับ หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด

วันนี้ เมื่อเวลา 09.00. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี

จากนั้น นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายมารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (http://www.thaigov.go.th)

สังคม

19. เรื่อง แนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่

19. เรื่อง แนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. ให้ความเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ และให้กระทรวง

ศึกษาธิการและสถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางหลักร่วมกัน เพื่อสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่

2. ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามแนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศน่าอยู่ตามความเหมาะสม

3. ให้กระทรวง ทบวง กรม และองค์กรอิสระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบและให้ความร่วมมือ สนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาตามภารกิจดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลจากการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องประเทศไทยน่าอยู่ เมื่อวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2553 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสกอ. โดยมีผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชนร่วมกันให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ โดยสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานตามแผนปรองดองแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 และกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551-2565) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 และได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. เป้าประสงค์

ส่งเสริมบทบาทสถาบันอุดมศึกษาให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและร่วมเป็นแกนหลักของแต่ละพื้นที่ในกระบวนการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการพัฒนาให้มีสายงานวิชาการรับใช้สังคม (social impact) พัฒนาระบบการผลิตกำลังคนของประเทศที่มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมและมีความเป็นพลเมือง และมีการให้บริการวิชาการที่มาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและสอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่

2. พันธกิจ

2.1 พัฒนาสายวิชาการเพื่อรับใช้สังคม (social impact) และสร้างกระบวนการให้เกิดการยอมรับในวงการวิชาการในประเทศและนานาชาติ

2.2 สถาบันอุดมศึกษาทุกประเภททุกแห่งร่วมดูแลพื้นที่กับองค์กรหรือหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาและกำหนดเป็นตัวชี้วัดของทุกสถาบันอุดมศึกษา

2.3 ส่งเสริมขบวนการนักศึกษาให้มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม มีส่วนร่วมในการแก้วิกฤตของประเทศและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และมีความเป็นพลเมือง

3. ยุทธศาสตร์ 3.1 พัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม 3.2 หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด 3.3 จัดตั้ง ศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดในทุกสถาบันอุดมศึกษา 3.4 การสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา 3.5 การสร้างบรรยากาศเพื่อการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา

4. ผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินการ ดังนี้

4.1 ทางตรง

- บัณฑิตมีคุณภาพ มีประสบการณ์จริงในการทำงาน กับชุมชนและท้องถิ่น มีความตระหนัก และเข้าใจสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานของชุมชนและท้องถิ่น และสามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานในท้องถิ่น

- บัณฑิตมีความเป็นพลเมืองมีสมรรถนะในการคิด วิเคราะห์ รู้จักการสังเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่มาจากแหล่งต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล มีจิตอาสา มีความสามารถในการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สังคม และประเทศ ซึ่งนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รู้จักการทำงานในเครือข่ายกับท้องถิ่นระดับจังหวัดและระดับประเทศ

- ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด กลุ่มจังหวัด มีกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาหรือบัณฑิต มีการนำเทคโนโลยีที่ได้รับการปรับแปลงให้เหมาะสมที่จะประยุกต์ใช้ทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมในท้องถิ่น มีนักศึกษาและครูอาจารย์มาร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อครัวเรือน

4.2 ทางอ้อม

- มหาวิทยาลัยสามารถปฏิรูปบทบาทและหน้าที่ในการพัฒนาวิชาการที่รับใช้สังคมเป็นหลัก ควบคู่กับบทบาทในการเป็นผู้นำทางวิชาการในระดับประเทศ มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากท้องถิ่นสู่ระดับชาติและระดับสากล

- มหาวิทยาลัยสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นพลเมือง เคารพกติกาสังคมภายใต้ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

- สังคม ชุมชน ทุกภูมิภาคมีความเท่าเทียมกัน เกิดความเป็นธรรมในการรับบริการการศึกษาจากรัฐ เป็นการขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม ลดช่องว่างในสังคม เป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุข มีความเอื้ออาทรต่อกัน ยอมรับในความแตกต่าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น