วันจันทร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ความเห็นเกี่ยวกับเรื่อง "หนึ่งมหาวิทยาลัย หนึ่งจังหวัด" หรือ "หนึ่งจังหวัด หนึ่งมหาวิทยาลัย"


วันนี้ (๑๓ ธันวาคม ๒๕๕๓) ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมระดับชาติ ประจำปี ๒๕๕๓ อุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ ปฏิรูปอุดมศึกษา ปฏิรูปประเทศไทย โดยมีเรื่องที่น่าสนใจคือ หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย (ตามรูปภาพข้างต้น ผู้เขียนคิดว่า รูป Logo ของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี น่าจะผิดพลาดไป สงสัยผู้จัดงานไม่ได้ตรวจสอบ)
ก่อนอื่นผู้เขียนขอออกตัวเสียก่อนว่า เรื่องดังกล่าวต่อไปนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวบุคคลของผู้เขียนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถาบันองค์กรที่ผู้เขียนทำงาน หากมีสิ่งใดที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกไม่ควรผู้เขียนขอน้อมรับผิดแต่เพียงผู้เดียว
ผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะได้ยินเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวตามชื่อหัวข้อข้างต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของรัฐบาลที่ว่า "แนวทางส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่" ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบแนวนโยบายดังกล่าวเมื่อวันอังคารที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง คือ ๑. พัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม ๒. หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด ๓. จัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดในทุกสถาบันอุดมศึกษา ๔. การสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา และ ๕. การสร้างบรรยากาศเพื่อปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามแนวทางดังกล่าว
นอกจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแล้ว สำหรับจังหวัดมุกดาหารยังมีรายงานผังอนุภาคกลุ่มจังหวัด (มุกดาหาร นครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์) จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง (ที่ มท ๐๗๑๑.๒/ว ๘๑๕๔​ ลงวันที่ ๕​ พฤศจิกายน ๒๕๕๓)​ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ที่ ๒ การเป็นศูนย์กลางการศึกษานานาชาติในเขตภูมิภาคอินโดจีนโดยการจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติ ทั้งนี้ จังหวัดมุกดาหารมีความเหมาะสมนด้านของทำเลที่ตั้งและสาธารณูปโภคที่จะรองรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา อีกทั้งในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารยังไม่มีสถานศึกษาในระดับอุดมศึกษา ดังนั้น การจัดตั้งมหาวิทยาลัยนานาชาติจึงเป็นการดึงดูดประชากรวัยเรียนในจังหวัดมุกดาหารให้เดินทางออกไปจากพื้นที่ลดลงและสามารถดึงดูดประชากรวัยเรียนจากจังหวัดใกล้เคียงรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านให้เข้ามาจังหวัดมุกดาหารเพิ่มมากขึ้น

ผู้เขียนขอสนับสนุนนโยบายดังกล่าว แต่ในทางปฏิบัติแล้วอาจจะเกิดปัญหาอยู่บ้าง แต่ปัญหาเราก็มีไว้ให้แก้ จังหวัดที่มีมหาวิทยาลัยมากที่สุด ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเก่าแก่ใหญ่ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐ ในกำกับของรัฐ ราชภัฏ ราชมงคล เอกชน และอื่นๆ อีกมากมาย ในทางตรงกันข้าม และเช่นเดียวกันในจังหวัดใหญ่ของแต่ละภาคก็มีหลายมหาวิทยาลัยในหนึ่งจังหวัด เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช นครราชสีมา พิษณุโลก สงขลา มหาสารคาม เชียงราย เป็นต้น โดยส่วนใหญ่จังหวัดต่างๆ ในประเทศไทยของเราล้วนจะมีมหาวิทยาลัยประจำจังหวัดไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยราชมงคล อย่างไรก็ดี บางจังหวัดไม่มีมหาวิทยาลัยหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ เป็นต้น

การที่มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทุกจังหวัด ผู้เขียนคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากทำให้ นักเรียนนักศึกษาไม่ต้องเดินทางไปจากท้องถิ่นพื้นที่มีความเป็นอยู่ใกล้ผู้ปกครองทำให้เกิดความอบอุ่นในการดูแลให้ความรักต่อบุตรหลาน ทำให้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและเรื่องของที่พักอาศัย และประการสำคัญ คือ นักเรียนนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดรู้และทราบปัญหาของท้องถิ่นเป็นอย่างดี ทำให้การร่วมแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่อยากจะให้มหาวิทยาลัยเข้าไปศึกษาและร่วมแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

คำว่า "หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย" จะเป็นจริงและสำเร็จลุล่วงไปได้นั้น จะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน (ทุกกระทรวง ทบวง กรม) ซึ่งโดยความเป็นจริงแล้วนั้น ผู้เขียนคิดว่า บางจังหวัดก็ไม่ควรจะมีมหาวิทยาลัย ถ้าหากจังหวัดนั้นยังมีขนาดเล็กทั้งจำนวนประชากร นักเรียน นักศึกษา แต่อาจจะให้มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้เข้าไปช่วยเหลือโดยอาจจะเป็นวิทยาเขต (ซึ่งจะสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินในการสนับสนุนการเป็นมหาวิทยาลัย แต่รัฐก็ควรจะสนับสนุนงบประมาณบางส่วนสำหรับการดำเนินงานของวิทยาเขตนั้นๆ) ตัวอย่างเช่น จังหวัดในภาคอีสานที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย คือ ยโสธร อำนาจเจริญ (ผู้เขียนเข้าใจว่า ที่อำนาจเจริญ มีมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ) และมุกดาหาร (ที่มี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร)

ดังนั้น เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถดำเนินงานตามแนวนโยบายของรัฐ "หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย" ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้เขียนคิดว่า ควรจะต้องเอาปัญหาของพื้นที่จังหวัด ความต้องการของจังหวัดเป็นหลัก ยุทธศาสตร์ของจังหัดเป็นหลัก แล้วในหน่วยงานจะเป็นมหาวิทยาลัยหรือวิทยเขตเป็นหน่วยงานประสานกับหน่วยงานในจังหวัดไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานกระทรวงเกษตรฯ ศึกษาฯ หรือกระทรวงอื่นๆ เพื่อดำเนินการต่างๆ สำหรับจังหวัดนั้นๆ

เพื่อให้ความกระจ่างกับการดำเนินงานดังกล่าว ผู้เขียนขอยกตัวอย่างเป็นแนวทางของการดำเนินงานที่จังหวัดมุกดาหาร โดยข้อเท็จจริงจังหวัดมุกดาหารมีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เป็นแหล่งเรียนรู้ศึกษาระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ปัจจุบันมีอาคารเรียน ๒ หลัง คือ อาคารมุกดาลัย ๑๐๐ ปี และอาคารเทพรัตน์คุรุปการ (โดยขณะนี้กำลังดำเนินการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา ณ ภูผาเจีย พื้นที่ ๑๐๐๐ กว่่าไร โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒) และจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความต้องการตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหาร เช่น สาขาวิชาการจัดการทั่วไป (ที่เน้นธุรกิจระหว่างประเทศ) สาชาวิชาการบัญชี เพื่อที่จะรองรับการขยายตัวการเป็นเมืองการค้าชายแดน อีกทั้ง ได้เปิดสอนสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่เป็นไปตาม แผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ ๒) ของประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๕๒-๒๕๕๖ ยุทธศาสตร์ที่ ๑ ข้อ ๑.๑ “... สำหรับการพัฒนาเพื่อเพิ่มปริมาณและคุณภาพของบุคลากร ICT ที่มีทักษะสูงซึ่งประเทศไทยยังขาดแคลนนั้น ให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยหรือสถาบันเฉพาะทางด้าน ICT (โดยอาจเป็นการจัดตั้งใหม่หรือยกระดับจากสถาบันการศึกษาที่มีอยู่)...” ซึ่งการสอนในรายวิชาต่างๆ นั้น ได้กำหนดให้มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการเพิ่มทักษะให้กับนักศึกษาไม่ว่าจะเป็นการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ D4L ที่มหาวิทยาลัยได้พัฒนาขึ้นมาในการพัฒนาศักยภาพการเรียนการสอนและการใช้ Social Networks

สำหรับการเปิดสอนในสาขาวิชาต่างๆ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารข้างต้นสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ข้อที่ ๒, ๓ และ ๔ ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดมุกดาหารประกอบด้วย
๑.​ การพัฒนาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม
๒.​การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว
๓. การพัฒนาการค้าชายแดนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
๔.​การพัฒนาคนและสังคมที่มีคุณภาพ
๕​.​การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ และ
๖.​การรักษาความมั่นคง

โดยการดำเนินงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารได้กำหนดให้มีปรัชญา คือ “มุ่งเน้นวิชาการ สร้างสรรค์คนดี เพื่อพัฒนาสังคม” และกำหนดวิสัยทัศน์วิทยาเขตมุกดาหารเพื่อ “เป็นเลิศด้านความรู้และวิชาการโดยเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมการเรียนรู่ เพื่อพัฒนาศักยภาพอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง” พร้อมทั้งมีการกำหนดอัตลักษณ์ คือ
๑.เป็นเลิศด้านความรู้และวิชาการโดยเน้นนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและภาษาต่างประเทศ
๒. เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิชาการและวัฒนธรรมในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และ
๓. เป็นผู้มีจิตสาธารณะในการบริการเพื่อพัฒนาสังคมและเรียนรู้อย่างยั่งยืน
ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารจะยึดหลักตามปรัชญา“เศรษฐกิจพอเพียง” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ​ ที่ว่า
๑.ความพอประมาณในการดำเนินงานด้านพื้นที่ใช้สอย ด้านหลักสูตรการสอน (ตามความต้องการของท้องถิ่น) ด้านการบริหารจัดการ (งบประมาณ คน)
๒.ความมีเหตุผล ในหลักสูตรที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและสถานการณ์โลก และ
๓.ความมีภูมิคุ้มกัน ที่จะต้องใช้ความร่วมมือและการสนับสนุนจากประชาชน ผู้ว่าราชการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดมุกดาหาร และ ส่วนราชการอื่นๆ
ทั้งนี้ในอนาคตมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารมุ่งเน้นที่จะเป็นสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงที่เป็นลักษณะมีความเป็นนานาชาติเพื่อให้สอดรับกับยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ว่า
๑. การเพิ่มขีดความสามารถของบัณฑิตในการแข่งขันในเวทีนานาชาติ
๒.การพัฒนาความเข้มแข็งของสถาบันอุดมศึกษาต่อการเกิดประชาคมอาเซียน และ
๓. การส่งเสริมบทบาทของอุดมศึกษาไทยในประชาคมอาเซียน

โดยมีเป้าหมายเกี่ยวกับนักศึกษาและการรับนักศึกษาที่เข้าศึกษาต่อโดยใช้เกณฑ์ความดีและมีภูมิลำเนาในจังหวัดมุกดาหารและพื้นที่ใกล้เคียง คือ
๑. นักศึกษา จากลูกหลานของชาวจังหวัดมุกดาหาร (โดยได้รับทุนการศึกษาจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. ต่างๆ) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร) และนักศึกษาจากจังหวัดใกล้เคียงที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย เช่น อำนาจเจริญ ยโสธร เป็นต้น และ
๒. นักศึกษา จากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม จีน ลาว โดยในเบื้องต้นอาจจะเป็นโครงการการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ผู้สอนภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาเวียดนาม เป็นต้น

ดังนั้น เพื่อเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีแนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ ยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ และ รายงานผังอนุภาคกลุ่มจังหวัด (มุกดาหาร นครพนม สกลนคร และกาฬสินธุ์) จัดทำโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร จึงใคร่เสนอ แผนงานพัฒนาการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษา ณ จังหวัดมุกดาหาร (พ.ศ. ๒๕๕๕- ๒๕๕๙) โดยมีโครงการเช่น
๑.โครงการศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร (เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา มหาราชินี) (เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ยุทธศาสตร์ข้อที่ ๓)
๒.โครงการศูนย์ภาษาและวัฒนธรรมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (เป็นไปตามยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดมุกดาหารข้อที่ ๒ และ ๓ และยุทธศาสตร์อุดมศึกษาไทยในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘)
๓.โครงการการเปิดสอนสาขาวิชาต่างๆ ที่เน้นตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหารและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เช่น สาขาวิชาภาษาและการสื่อสารเพื่อพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์ สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เป็นต้น

เหนือสิ่งอื่นใดที่จะทำให้โครงการหนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัดมีความชัดเจนและสามารถที่จะนำไปปฏิบัติได้จริงเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศโดยใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้เขียนคิดว่าจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น
๑.ประชาชนในจังหวัดเพราะผู้ปกครองจะต้องส่งเสริมให้บุตรหลานให้เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาใกล้พื้นที่โดยเฉพาะจังหวัดของตน
๒.องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นทุกระดับไม่ว่าตจะเป็น อบจ. เทศบาล อบต. จะต้องสนับสนุนงบประมาณซึ่งอาจจะเป็นการให้ทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาในท้องถิ่นของตนรวมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัยการจัดบริการวิชาการหรือการทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของท้องถิ่นโดยใช้หลักวิชาการที่ถูกต้องและเหมาะสมกับท้องถิ่นนั้นๆ
๓.หน่วยงานราชการต่างๆ ในจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านผู้ว่าราชการ ท่านหัวหน้าส่วนราชการของกระทรวงต่างๆ ประจำจังหวัด จะต้องให้ความร่วมมือสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือการจัดเก็บข้อมูล การจัดทำโครงการต่างๆ ที่เป็นลักษณะที่บูรณาการร่วมกันทั้งจังหวัดในการแก้ไขปัญหา
๔.สถาบันอุดมศึกษาหลักในจังหวัด ควรจะเป็นสถาบันที่มีความพร้อมที่สุดในจังหวัดทั้งด้านกำลังคน ตั้งอยู่ในที่ตั้งของจังหวัดนั้นๆ เพื่อสะดวกต่อการติดต่อประสานการดำเนินงาน


ทั้ง ๔ ส่วนข้างต้น ผู้เขียนมีความเห็นว่าเป็นส่วนที่จำเป็นเป็นอย่างมากในการที่จะขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลให้ประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ดี อาจจะมีส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมเพื่อให้การดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากยิ่งๆ ขึ้นไป

ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาศักยภาพด้านภาษาและการสื่อสารเพื่อการค้าชายแดนของจังหวัดมุกดาหาร (ภาษาอังกฤษ และ ภาษาจีน) โครงการดังกล่าวอาจจะมอบให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เป็นหน่วยงานประสานดำเนินการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร และให้ผู้ว่าราชการสั่งการจัดหาผู้เข้ารับการอบรมไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบ หัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม ที่สำคัญคือ การจัดอบรมดังกล่าวจะต้องมีการติดตามประเมินผล ซึ่งวิธีอาจจะให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อจะได้สอดรับกับยุทธศาสตร์ที่ว่าการสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา

สรุปเกี่ยวกับการดำเนินงาน หนึ่งจังหวัดหนึ่งมหาวิทยาลัย หรือจะเป็น หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด ผู้เขียนคิดว่าควรจะดำเนินการดังนี้
๑.ถามความต้องการของประชาชนผ่านจังหวัด ผ่านผู้ว่าราชการ ว่า จังหวัดต้องการจะพัฒนาอะไร (โดยอาจจะยึดยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัด) ต้องการให้หน่วยงานหรือสถาบันอุดมศึกษาใดเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา
๒.ถามองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อบจ. อบต. เทศบาล) ว่าจะสนับสนุนงบประมาณในส่วนใดได้บ้าง ทั้งนี้จะต้องเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น
๓.ถามสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดว่าต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาจังหวัดหรือไม่ เพราะทุกอย่างจะประสบความสำเร็จได้นั้น ใจจะต้องมาก่อน
๔.ถามตัวเราเองว่า เราต้องการพัฒนาประเทศของเราให้น่าอยู่หรือไม่ หากถามแล้วว่าต้องการ เรามาเริ่มกันเลยตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป

มนูญ ศรีวิรัตน์

วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

MUK model เราจะทำได้หรือไม่

MUK model คือ อะไร จะต้องทำอย่างไร เพื่อให้ MUK model เป็นจริงได้ อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของวิทยาเขตมุกดาหารหลายๆ ท่านอาจจะรู้ หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่รู้ เพื่อให้การพัฒนาการการศึกษาการจัดการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหาร (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร) สำเร็จตามเป้าหมาย ก่อนที่จะทราบว่า MUK model คืออะไร และจะทำอย่างไร นั้น ผมก็ให้ทุกท่านได้เข้าไปอ่านบทความที่ผมเขียนไว้ เรื่อง คนบ้านเดียวกัน ที่นี่

MUK model คือ ตัวแบบการทำงานของวิทยาเขตมุกดาหาร ถ้าสำหรับอาจารย์และบุคลากร จะประกอบด้วย
M = Management ความสามารถในการจัดการ
U = Unity ความเป็นเอกภาพ รักสามัคคี
K = Keenness ความหลักแหลม ความกระตือรือร้น
ดังนั้น อาจารย์และบุคลากรของวิทยาเขตจะต้องมีรูปที่เน้นการทำงานที่กระตือรือร้น การทำงานที่ใช้ความสามารถในการจัดการ (ทั้งการเรียนการสอนการปฏิบัติงาน การวิจัย การบริการวิชาการ การทำนุวัฒนธรรม) และ การทำงานที่เกิดความเป็นเอกภาพเดียวกันและรักความสามัคคีกันในวิทยาเขตมุกดาหาร
ก่อนอื่น ผมขอบอกว่า ความสามารถในการจัดการ เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ที่สำคัญเพราะความสามารถของคนเราจะหยุดนิ่งถ้าหากว่าเราไม่เรียนรู้ต่อไป พูดง่ายๆ คือ ถ้าหากอาจารย์หรือบุคลากรคิดว่าเราเก่งแล้ว เรามีความสามารถ เราดีแล้ว เราไม่มีใครจะเทียบเราได้นั้น เราคิดผิด ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกใบนี้ล้วนเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ความสามารถในทางที่ผิดแล้วละก็ยิ่งจะทำความเสียหายให้องค์กรเป็นอย่างมาก สำหรับความเอกภาพรักสามัคคีเป็นเรื่องที่จำเป็นเป็นอย่างมากสำหรับองค์กรของเรา ถ้าเรามีความเอกภาพและรักสามัคคีแต่พูด ใช้อำนาจใช้พลังใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการสร้างเอกภาพให้เกิดความสามัคคี ความเอกภาพและความรักสามัคคีนั้นจะไม่ยั่งยืน ไม่มีอำนาจใดจะสามารถสร้างความเป็นเอกภาพความสามัคคีได้ ถ้าหากไม่ใช้จิตใจที่โอบอ้อมอารีคิดใจเขามาใส่ใจของเรา เหมือนกับที่ผมเขียนบทความเรื่อง "เราและนาย" (ลองอ่านอีกครั้ง ได้ที่นี่) ส่วนความกระตือรือร้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่แต่ละคนจะต้องฝึกปฏิบัติ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ได้มาด้วยโชค ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนได้มาด้วยความกระตือรือร้นที่จะได้มาก ด้วยความตั้งใจ ด้วยความใส่ใจ ด้วยความจริงใจและมีไมตรีจิตต่อเรื่องนั้นๆ การกระตือรือร้นเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเราเป็นคนที่มีความรู้มีความเก่งในเรื่องนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา อาจารย์และบุคลากรวิทยาเขตมุกดาหารก็เช่นกันหากท่านไม่มีความกระตือรือร้น สักวันท่านก็จะเป็นบุคคลที่ไม่มีคุณค่า ไม่มีประโยชน์ ซึ่งผมก็ไม่อยากให้เป็น ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เราทุกคนควรจะต้องและคิดอยู่เสมอ คือ เหนือฟ้ายังมีฟ้า (อ่านรายละเอียด เรื่อง เหนือฟ้ายังมีฟ้า ได้ที่นี่) ท่านไม่ต้องเสียใจหรอกครับถ้าหากท่านทำ MUK model ไม่ได้ เพราะมีคนที่เสียใจมากกว่าท่าน คือ ผมเอง เนื่องจากผมส่วนหนึ่งที่ได้คัดเลือกท่านมาทำงานที่วิทยาเขตมุกดาหาร ถึงแม้ว่าผมจะเสียใจแต่ผมก็ไม่ยอมให้ความเสียใจมาทำลายความตั้งใจของผมที่จะพัฒนาการเรียนการสอน ณ จังหวัดมุกดาหารให้มีคุณภาพ เพราะผมมี ฝัน ที่เป็นฝันอยากจะให้ทุกท่านได้ช่วยกัน ทำให้เป็นจริง (อ่านเรื่องฝันได้ที่นี่)
ยังไม่สายเกินไปสำหรับเราที่วิทยเขตมุกดาหารจะคิดทบทวนอะไรที่อาจจะทำให้ MUK model ไม่เป็นจริง เราก็ควรคิดใหม่ ตั้งใจใหม่ หากมีสิ่งใดที่เราทำผิดพลาด ทุกคนเราพร้อมให้อภัยให้กันและกัน เพราะเราเป็น "คนบ้านเดียวกัน" ซึ่งบางครั้งการทำงานด้วยปาก ด้วยอำนาจ เป็นเรื่องที่เราจะต้องหลีกเลี่ยง แต่หากเราทุกคนทำงานด้วยใจ ให้กำลังใจให้กันและกัน ให้ความรักต่อองค์กร ให้ความรักต่อเพื่อนร่วมงาน ให้ความรักต่อนักศึกษา ให้ความรักต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับวิทยาเขตมุกดาหาร ผมเชื่อว่าเราทุกคนจะมีความสุข และวิทยาเขตมุกดาหารจะน่าอยู่ และจะมีคนมาอยู่กับเรามากยิ่งๆ ขึ้นไป ขอให้ทุกท่านโชคดี
มนูญ ศรีวิรัตน์




วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2553

โครงการ อาคารศูนย์การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร

โครงการก่อสร้างอาคารที่ วิทยาเขตมุกดาหาร

ชื่อ อาคารศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร (เฉลิมพระเกียรติ มหาราชินี)


หลักการและเหตุผล
สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำรัสเกี่ยวกับการทำความดี ด้านการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบอาชีพในพื้นที่ชายแดน ดังนี้

... ข้าพเจ้าได้ตระหนักมาตลอดว่า ความมีน้ำใจต่อกันไม่ทิ้งกัน เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของคนไทย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ร้อยปี เอกลักษณ์นี้ยังไม่เสื่อมสูญไป เราพยายามหาโอกาสที่จะกระทำความดีเพื่อคนอื่นอยู่เสมอ...พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคลในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๙

...ข้าพเจ้านั้นภูมิใจเสมอว่า คนไทยมีสายเลือดของช่างฝีมืออยู่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นชาวนาชาวไร่ หรืออาชีพใด อยู่สารทิศใด คนไทยมีความละเอียดอ่อน และฉับไวต่อการับศิลปะทุกชนิด ขอเพียงแต่ให้เขามีโอกาสได้เรียนรู้และฝึกฝน เขาก็จะแสดงความสามารถออกมาให้ เห็นได้... พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๒

...เมืองไทยเดี๋ยวนี้ประชาชนมากเหลือเกิน ๖๕ ล้าน แล้วก็รอบๆ ตามชายแดนก็ยังมีคนที่ยากจนมาก จึงคิดว่าต้องพยายามหาอาชีพให้เขาทำ ให้ทุกคนมีงานทำ โดยเสริมสร้างให้เขามีความรู้ความชำนาญการทำศิลปะหลายอย่างที่กำลังจะสูญหายไปจากประเทศไทย...พระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันเสาร์ที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๕๐

นอกจากนั้น มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๓ ได้เห็นชอบ แนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาเสนอทั้ง ๓ ข้อ คือ (๑) ให้ความเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ และให้กระทรวงศึกษาธิการและสถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางหลักร่วมกัน เพื่อสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ (๒) ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามแนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศน่าอยู่ตามความเหมาะสม และ(๓) ให้กระทรวง ทบวง กรม และองค์กรอิสระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบและให้ความร่วมมือ สนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาตามภารกิจดังกล่าว พร้อมทั้งเห็นชอบประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ ยุทธศาสตร์ ๓.๓ การจัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดในทุกสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งจากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้นยุทธศาสตร์ ๓.๓ เกี่ยวข้องกับจังหวัดมุกดาหารและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยเขตมุกดาหาร คือ การจัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัด ดังนั้น จังหวัดมุกดาหารและมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอาคาร "ศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร (เฉลิมพระเกียรติ มหาราชินี)" จะเป็นการน้อมนำพระราชดำรัสและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมทั้งเป็นดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี โดยจังหวัดมุกดาหารมีโครงการส่งเสริมศิลปาชีพบ้านสานแว้ ต.กกตูม อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร (VD 097556) และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหารเป็นหน่วยงานหลักในการประสานดำเนินงานอันเป็นการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ที่ ๓.๓ ข้างต้น

วัตถุประสงค์
๑. เพื่อเป็นการน้อมนำพระราชดำรัสน้อมนำพระราชดำรัสและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพในพื้นที่จังหวัดชายแดนอันจะเป็นศูนย์กลางการจัดความรู้เรื่องการประกอบอาชีพของจังหวัดชายแดน (จังหวัดมุกดาหาร)
๒. เพื่อเป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๑๕๕๓ ในประเด็นยุทธศาสตร์ การจัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดในทุกสถาบันอุดมศึกษา อันจะทำให้เป็นศูนย์ประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร
๓. เพื่อเป็นศูนย์ความรู้และจัดการความรู้ (อิเล็กทรอนิกส์) เพื่อพัฒนาจัดหวัดมุกดาหารในอาชีพต่างๆ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจชายแดน ด้านการเกษตร และด้านพลังงานทดแทน เป็นต้น

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
๑. ทำให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและพื้นที่ชายแดนได้แสดงความจงรักภักดีและเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ที่พระองค์ท่านได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ในการส่งเสริมการประกอบอาชีพในพื้นที่จังหวัดชายแดนอันจะเป็นศูนย์กลางการจัดความรู้เรื่องการประกอบอาชีพของจังหวัดชายแดน (จังหวัดมุกดาหาร)
๒. ทำให้เป็นการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๑๕๕๓ ในประเด็นยุทธศาสตร์ การจัดตั้งศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดในทุกสถาบันอุดมศึกษา อันจะทำให้เป็นศูนย์ประชุมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้และการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดมุกดาหาร
๓. ทำให้มีศูนย์ความรู้และจัดการความรู้ (อิเล็กทรอนิกส์) เพื่อพัฒนาจัดหวัดมุกดาหารในอาชีพต่างๆ เช่น ด้านการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจชายแดน ด้านการเกษตร และด้านพลังงานทดแทน เป็นต้น


ขอบคุณมากครับ
มนูญ ศรีวิรัตน์

วันจันทร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2553

มติ ครม. วันที่ 21 ก.ย.53 เกี่ยวกับ หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด

วันนี้ เมื่อเวลา 09.00. ณ ห้องประชุมคณะรัฐมนตรี ชั้น 2 สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี

จากนั้น นายศุภชัย ใจสมุทร รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายวัชระ กรรณิการ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายมารุต มัสยวาณิช รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวผลการประชุมคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (http://www.thaigov.go.th)

สังคม

19. เรื่อง แนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่

19. เรื่อง แนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. ให้ความเห็นชอบแนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ และให้กระทรวง

ศึกษาธิการและสถาบันอุดมศึกษาใช้เป็นแนวทางหลักร่วมกัน เพื่อสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่

2. ให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมตามแนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศน่าอยู่ตามความเหมาะสม

3. ให้กระทรวง ทบวง กรม และองค์กรอิสระต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรับทราบและให้ความร่วมมือ สนับสนุน ส่งเสริมการดำเนินการของสถาบันอุดมศึกษาตามภารกิจดังกล่าว

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลจากการประชุมระดมความคิดเห็นเรื่องประเทศไทยน่าอยู่ เมื่อวันจันทร์ที่ 2 สิงหาคม 2553 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และสกอ. โดยมีผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยของรัฐ มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชนร่วมกันให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่จะช่วยแก้ปัญหาวิกฤตของชาติ โดยสนับสนุนแนวทางการดำเนินงานตามแผนปรองดองแห่งชาติ ที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 และกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551-2565) ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบหลักการแล้ว เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 และได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการส่งเสริมอุดมศึกษาร่วมสร้างประเทศไทยน่าอยู่ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. เป้าประสงค์

ส่งเสริมบทบาทสถาบันอุดมศึกษาให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมและร่วมเป็นแกนหลักของแต่ละพื้นที่ในกระบวนการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยการพัฒนาให้มีสายงานวิชาการรับใช้สังคม (social impact) พัฒนาระบบการผลิตกำลังคนของประเทศที่มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวมและมีความเป็นพลเมือง และมีการให้บริการวิชาการที่มาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและสอดคล้องกับแผนพัฒนาพื้นที่

2. พันธกิจ

2.1 พัฒนาสายวิชาการเพื่อรับใช้สังคม (social impact) และสร้างกระบวนการให้เกิดการยอมรับในวงการวิชาการในประเทศและนานาชาติ

2.2 สถาบันอุดมศึกษาทุกประเภททุกแห่งร่วมดูแลพื้นที่กับองค์กรหรือหน่วยงานส่งเสริมการพัฒนาและกำหนดเป็นตัวชี้วัดของทุกสถาบันอุดมศึกษา

2.3 ส่งเสริมขบวนการนักศึกษาให้มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม มีส่วนร่วมในการแก้วิกฤตของประเทศและการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น และมีความเป็นพลเมือง

3. ยุทธศาสตร์ 3.1 พัฒนาวิชาการสายรับใช้สังคม 3.2 หนึ่งมหาวิทยาลัยหนึ่งจังหวัด 3.3 จัดตั้ง ศูนย์จัดการความรู้เพื่อพัฒนาจังหวัดในทุกสถาบันอุดมศึกษา 3.4 การสร้างความเป็นพลเมืองของนิสิตนักศึกษา 3.5 การสร้างบรรยากาศเพื่อการปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษา

4. ผลลัพธ์ที่เกิดจากการดำเนินการ ดังนี้

4.1 ทางตรง

- บัณฑิตมีคุณภาพ มีประสบการณ์จริงในการทำงาน กับชุมชนและท้องถิ่น มีความตระหนัก และเข้าใจสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานของชุมชนและท้องถิ่น และสามารถปรับตัวเข้ากับการทำงานในท้องถิ่น

- บัณฑิตมีความเป็นพลเมืองมีสมรรถนะในการคิด วิเคราะห์ รู้จักการสังเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่มาจากแหล่งต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผล มีจิตอาสา มีความสามารถในการสร้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน สังคม และประเทศ ซึ่งนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม รู้จักการทำงานในเครือข่ายกับท้องถิ่นระดับจังหวัดและระดับประเทศ

- ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด กลุ่มจังหวัด มีกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกับนักศึกษาหรือบัณฑิต มีการนำเทคโนโลยีที่ได้รับการปรับแปลงให้เหมาะสมที่จะประยุกต์ใช้ทั้งด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมในท้องถิ่น มีนักศึกษาและครูอาจารย์มาร่วมแก้ไขปัญหาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของรายได้ต่อครัวเรือน

4.2 ทางอ้อม

- มหาวิทยาลัยสามารถปฏิรูปบทบาทและหน้าที่ในการพัฒนาวิชาการที่รับใช้สังคมเป็นหลัก ควบคู่กับบทบาทในการเป็นผู้นำทางวิชาการในระดับประเทศ มีการเชื่อมโยงองค์ความรู้จากท้องถิ่นสู่ระดับชาติและระดับสากล

- มหาวิทยาลัยสามารถผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นพลเมือง เคารพกติกาสังคมภายใต้ การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

- สังคม ชุมชน ทุกภูมิภาคมีความเท่าเทียมกัน เกิดความเป็นธรรมในการรับบริการการศึกษาจากรัฐ เป็นการขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม ลดช่องว่างในสังคม เป็นสังคมที่อยู่เย็นเป็นสุข มีความเอื้ออาทรต่อกัน ยอมรับในความแตกต่าง

วันจันทร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงการนำโคกระบือกลับอีสานบ้านของเรา

(ร่าง)

โครงการนำโคกระบือกลับอีสานบ้านของเรา

หลักการและเหตุผล

สืบเนื่องจากประเทศไทยของเราเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีจำนวนเกษตรกรโดยเฉพาะชาวนามีจำนวนมากที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติในการผลิตข้าวเพื่อหล่อเลี้ยงประชาชนชาวไทยตลอดจนส่งข้าวเลี้ยงประชาคมชาวโลก ที่ผ่านมานั้นการผลิตข้าวของชาวนาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยไม่ว่าจะเป็น การใช้เครื่องมือวิศวเกษตรกรรม อุปกรณ์ทันสมัยที่ใช้พลังงานน้ำมัน การใช้ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะเป็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น ล้วนเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมทำให้เกิดผลเสียในหลายๆ ด้าน ทั้งนี้ ในอดีตของชาวนาไทยนั้นต่างใช้วิถีการทำนาโดยธรรมชาติ ใช้โคให้ในการคาดไถพื้นดิน ใช้ปุ๋ยจากมูลของโคหรือที่หาได้จากธรรมชาติ ในปัจจุบันนั้นวิถีดังกล่าวได้ค่อยๆ เลือนหาย การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการทำนาจำเป็นจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก หากชาวนารายใดไม่มีทรัพย์สินเงินทองก็จะเป็นการจ้างเหมาผู้ที่มีเครื่องมืออุปกรณ์ เช่น การจ้างรถยนต์ปักดำต้นกล้า การจ้างรถยนต์เกี่ยวข้าว เป็นต้น ชาวนาที่ไม่มีเงินทองก็จำเป็นจะต้องกู้ยืมจากผู้ให้กู้ในระบบ (ธนาคารเกษตรและสหกรณ์) หรือผู้ให้กู้นอกระบบ ซึ่งบางฤดูกาลฝนฟ้าไม่เป็นใจชาวนาก็ต้องชอกซ้ำระกำใจเพราะได้การผลการผลิตที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราทุกคนในประเทศไทยของเรามาช่วยกันกลับคืนวิถีชีวิตที่ดั่งเดิมของชาวนาไทยกลับคืนสุ่วิถีของธรรมชาติความพอเพียงตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยให้น้อมนำไปปฏิบัติในด้านต่างๆ ดังนั้น โครงการนำโคกระบือกลับบ้านเรา จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการธนาคารโคกระบือของกรมปศุสัตว์ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นการถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อันจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น นักเรียน นักศึกษา ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวนา ชาวนาเกษตรกรได้กลับคืนสู่การทำนาที่ประหยัดต้นทุนต่ำสามารถที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งจะเป็นการสร้างเพื่อสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนหันมาอนุรักษณ์ควายไว้ใช้ในการเกษตรทำนาทำไร่ไถนา พร้อมไถ่ชีวิตโคกระบือสร้างความสัมพันธ์สานใยระหว่างผู้บริจาคและผู้รับบริจาค ทั้งนี้ มอบให้เกษตรกรยืมเลี้ยงเพื่อการผลิต มีการติดตามผลประเมินผลการนำไปใช้เพื่อการผลิต พร้อมทั้งมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลโคกระบือในโครงการนี้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

วัตถุประสงค์

. เพื่อสร้างจิตสำนึกร่วมกันในการกลับคืนสู่วิถีของธรรมชาติ โดยเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์โคกระบือไทยให้ระบือไปทั่วโลก

. เพื่อให้นักเรียน นักศึกษาได้ตระหนักถึงความสำคัญของเกษตรกรรมไทยตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

. เพื่อส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์ระหว่างสถานศึกษากับชาวนาเกษตรกรเพื่อร่วมกันพัฒนาประเทศไทยให้มีความยั่งยืนด้านการทำนา

ผู้รับผิดชอบและหน่วยงานที่รับผิดชอบ

. สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร

. กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (จังหวัดมุกดาหาร)

. องค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร และเทศบาลตำบลมุกดาหาร

. ชาวไทยทุกคนที่รักโคกระบือ

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

. ทำให้เกิดการสำนึกถึงคุณประโยชน์ของโคกระบือไทยที่มีต่อเกษตรกรรมของไทย

. ทำให้ทุกคนทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการทำนา

. ทำให้เกิดความเข้าใจความสัมพันธ์อันดีระหว่างสถานศึกษากับเกษตรกร

. ทำให้เป็นการไถ่ชีวิตของโคกระบือเพื่อเป็นการถวายพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

สถานที่ดำเนินการ

ณ ภูผาเจีย (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร) ในพื้นที่จำนวนประมาณ ๕๐ ไร่

งบประมาณที่ใช้ดำเนินการ

. รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาในการไถ่ชีวิตโคกระบือ

. เงินสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร และ เทศบาลตำบลมุกดาหาร

. เงินสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ ที่เห็นความสำคัญของโคกระบือไทย

วิธีการดำเนินงาน

. สำรวจเกษตรกรที่มีความต้องการโคกระบือ และทำการลงทะเบียนด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

. รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาเพื่อไถ่ชีวิตโคกระบือจากโรงเชือด

. ในกรณีที่มีจำนวนโคกระบือที่กลับคืนสู่บ้านเรามากกว่าจำนวนความต้องการของเกษตรกร จะทำโคกระบือฝึกฝนไว้ที่ ภูผาเจีย (มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร)

. ทำการเก็บข้อมูลจากเกษตรกรเกี่ยวกับโคกระบือที่ได้นำไปฝากเพื่อทำประโยชน์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูลภูมิศาสตร์สารสนเทศ สำหรับพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อเชิงนโยบายเสนอต่อรัฐบาล

หมายเหตุ ทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้จะต้องมีจุดเริ่มต้น ถึงจะสามารถเดินทางไปหาจุดอื่นๆ ได้ โดยเฉพาะเป้าหมายปลายทางที่ทุกคนตั้งใจร่วมกัน

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2553

เพลงสร้างจิต เรียนรู้ได้จริงหรือ? (ท่านโสภณ สุภาพงษ์)

วันนี้ วันศุกร์ที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๓ ท่านโสภณ สุภาพงษ์ (กรรมการสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) ได้ให้เกียรติมาบรรยายพิเศษในหัวข้อ มหาวิทยาลัยที่มีชีวิต พร้อมจิตใจ ตอน เพลงสร้างจิต เรียนรู้ได้จริงหรือ? ผมได้พยายามสรุปจากการบรรยายของท่านโสภณ เพื่อถ่ายทอดให้นักศึกษา อาจารย์ และเจ้าหน้าที่วิทยาเขตมุกดาหาร ได้รับทราบเพื่อนำไปฝึกฝนปฏิบัติ ดังนี้
จักรวาลที่เกิดขึ้นมานานแล้วนั้นมีความเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ต้องการมีตัวกลางในการติดต่อสื่อสาร ทั้งนี้ เพราะจักรวาลสามารถติดต่อกันได้โดยไม่มีสื่อกลาง โดยที่สภาพของจักรวาลมีสภาพที่เป็นหนึ่งเดียว ที่มีรู้สึกเหมือนกัน สิ่งหนึ่งเกิดแห่งหนึ่งจะสื่อสารกันได้ในอีกแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ที่อาจจะเรียกว่า มีลักษณะที่พัวพันกันอย่างแยกไม่ออก ที่เราเห็นสิ่งต่างๆ นั้นเพราะว่า แสงเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆ วิ่งเข้ามาหาดวงตาเรา เราเห็นดวงจันทร์เพราะการเดินทางของแสงโดยใช้เวลา ๑.๒ วินาที่ และเห็นดวงอาทิตย์ใช้เวลา ๘.๓๑ วินาที จะเห็นว่าภาพที่เห็นนั้นเป็นภาพอดีตของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ที่เราเห็น ตามทฤษฎีของนักวิทยาศาสตร์ไม่มีอะไรที่เร็วกว่าแสง แต่ทุกวันนี้เริ่มมีคนค้นพบว่า มีสิ่งที่เร็วกว่าแสงที่มีคุณสมบัติคล้าย จิต ดังนั้น หากเรามีจิตที่บริสุทธิ์ เราจะสามารถดูอดีตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจิตตอนใกล้จะดับจะมีความเร็วกว่าแสง ซึ่งทำให้เราหรือคนๆ นั้น ได้เห็นอดีต
จิตเป็นเรื่องที่เกิดมาพร้อมกับจักรวาลเมื่อตั้งแต่เแรกเริ่ม โดยที่จักรวาลนี้มีคลื่นเกิดขึ้นมาพร้อมกับพลังงาน คลื่นนั้นมีหลายประเภท หลายชนิด ให้อุณหภูมิพลังงานที่แตกต่างกันไป แต่กล่าวสำหรับคลื่นบางอย่างที่นักวิทยาศาสตร์อาจจะไม่รู้ แต่พระพุทธเจ้าได้ค้นพบคลื่นที่พระพุทธเจ้ารู้ สัมผัสได้นั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คลื่นของจิต จิตมันมาของมันเอง แต่ร่างกายมาอาศัยจิตอยู่ เมื่อร่างกายผุพังไป จิตก็จะกลับไปสู่ที่เดิมที่เริ่มต้น และจิตก็ไปหาที่ใหม่ร่างกายใหม่
จิต กับ ความคิด เป็นคนละเรื่อง การแยกจิตและความคิดจะต้องใช้สมาธิเข้ามาช่วยในการแยก โดยการทำสมาธิอาจจะได้เสียงเพลงที่มีลักษณะคลื่นความถี่ต่ำ
โดยปกติการเรียนรู้ควรจะต้องเรียนรู้ด้วยจิต ไม่ใช้เรียนรู้ด้วยสมอง เพราะคนเราเมื่อประมาณอายุ ๒๕ ปี สมองที่ไม่ได้ใช้งานจะถูกทำลายไปบางส่วน ดังนั้น การใช้จิตที่มีสติสมาธิจะช่วยในการเรียนรู้ทำให้สมองกลับมามีประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น สมอง เป็นอวัยวะที่ต้องการพลังงานอยากมากเพื่อไปหล่อเลี้ยงในการทำงาน เมื่อเราทำงานมากและคิดหนักด้วยการใช้สมองมาก เราจะก็เกิดความหิวกินมากไปด้วย ทำให้ร่างกายอาจจะอ้วนได้
ขอกลับมาเรื่องของจักรวาล สิ่งที่เกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ ในโลกนี้จักรวาลนี้ อยู่ภายใต้กฎ ที่เรียกว่า กฎธรรมชาติ กฎสมมติ ไม่ได้อยู่เหนือ กฎธรรมชาติ การเข้าใจเข้าถึงกฎธรรมชาติ เป็นเรื่องที่เราทุกคนจะต้องทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งอย่างแท้จริง กฎธรรมชาติ นั้น เราไม่สามารถเปลี่ยนปรอท เป็น ทอง ไม่ได้ แต่ เราสามารถเปลี่ยนน้ำสกปรก เป็น น้ำบริสุทธิ์ไได้ เพราะ ธรรมชาติของน้ำบริสุทธิ์ โดยเฉพาะธรรมชาติของจิตสะอาดมาก่อน บริสุทธิ์ ดังนั้น การจะทำจิตให้บริสุทธิ์สามารถทำได้โดยการฟังเพลงสวด (ที่มีความถี่ต่ำ)และโดยการให้ความช่วยเหลือผู้อื่น เราจะพบสภาวะที่บริสุทธิ์ จิตจะขจัดสิ่งที่ไม่ดีออก และเราจะพบจิตดั่งเดิมที่บริสุทธิ์ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับจักรวาล จิตมีพลังงานเป็นคลื่น โดยถ้าเรามีชีวิตที่อยู่ในสายคลื่น (ไฟฟ้า) ที่มีความมุทิตา เป็นคลื่นไฟฟ้าในสมอง ความถี่ต่ำ จะพบความจริงแท้ พบความชื่นใจ พบความกรุณา
ดังนั้น เราสามารถใช้จิตเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้เช่นกัน เพราะอย่างที่กล่าวแล้วว่า จิต เป็นสิ่งที่มีพลังงาน โดยเฉพาะถ้าเป็นจิตที่บริสุทธิ์ โดยสามารถเป็นสูตรตามหลักวิทยาศาสตร์ ได้ตามนี้
Courage Change Transformations
สละกิเลส (สละการยึดถือตัวเอง) เปลี่ยนพื้นฐานทางจิตใจ
การเปลี่ยนแปลง C = D x T x M x P > F (fear)
Dissatisfaction ความไม่สมใจ ไม่พอใจ ในสถานะที่เป็นอยู่ เกิดความทุกข์ (ถ้ามีความสุข รับรองได้ว่าจะไม่เปลี่ยน) ความทุกข์จะทำให้เกิดหาหนทางอย่างอื่นๆ เพื่อหาทางหลุดพ้น (ทุกข์)
Truth ความเข้าใจในเรื่องนั้น (สมุทัย)
Model มีรูปแบบ ตัวเแบบอย่างไร ที่จะทำ เป็นรูปแบบ เศรษฐกิจพอเพียง (ยุทธศาสตร์) ซึ่งจะต้องเข้าใจธรรมชาติ (นิโรธ)
Process วิธีการที่จะทำ จะไปไหน วิธีการอย่างไร (กฎธรรมชาติ รู้คน สุจริต น้ำใจ)
Fear (มรรค)
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้นั้น จะต้องเริ่มต้นด้วย Courage
เมื่อเราดูแลจิตของตัวเองได้แล้ว จึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงอย่างอื่นได้ โดยจะเข้าพบความจริงได้จะต้องด้วย จิตที่บริสุทธิ์)

ความกล้าหาญ ที่จะสละแล้วซึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดความทุกข์ เป็นสิ่งที่จะต้องใช้จิตที่บริสุทธิ์ ซึ่งถ้าหากเราทุกคนฝึกฝน และต้องมีความมุ่งมั่นอย่างแท้จริง ยืนยันในความกล้าหาญ ทิ้งในสิ่งที่เป็นสิ่งสูงสุดของตัวเอง กล้าหาญที่จะทิ้ง สละกิเลสทั้งหลายที่มีอยู่ให้ได้ หลุดพ้นจากความกลัว กล้าหาญกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง อารมณ์ที่กล้าที่ทำให้เกิดความเมตตา ดังนั้น ความกล้าหาญ จะทำให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาลต่อการเปลี่ยนแปลงใด พลังของความเมตตา จะทำให้เราสามารถช่วยเหลือคนอื่นๆ ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเข้าไปพบความจริง ข้อเท็จจริง การเข้าพบกับความจริงจะเป็นการทำให้เราเข้าใจตั้งจิตได้ถูกต้อง การมีเมตตา กรุณา ทำให้จิตได้เรียนรู้ โดยเฉพาะการทำให้เราชนะตนเองด้วยจิตที่บริสุทธิ์ จะมีความสุขมากที่สุด การชนะหรือการจะเป็นอะไรก็ตามแต่ เราควรจะต้องตอบให้ได้ว่า เป็นแล้วเพื่ออะไร เป็นมีประโยชน์หรือไม่ เช่นกันในสังคมต่างๆ หากตราบใดที่มีความละเมิด ตราบใดที่มียังไม่มีความยุติธรรม ก็จะเกิดความไม่สงบ เกิดความต่อสู้ไม่มีวันจบสิ้น มนุษย์เราเมื่อพบจุดลำบาก หากเราได้รับน้ำใจจากคนอื่นๆ เราจะได้รับสิ่งนั้นฝั่งในจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีความสุขจากการอดทน ซึ่งจะต้องฝึกฝนความอดทนตั้งแต่เด็กๆ เพื่อได้เรียนรู้ แล้วจะเกิดความสุข
สำหรับประเด็นเกี่ยวกับเรื่องของ จิต กับ เพลง สัมพันธ์ กับอย่างไร มีพลังอย่างไร ต่อการทำงาน ตัวอย่างเพลงมากมายที่สามารถทำให้จิตเกิดการเรียนรู้ มีพลัง เช่น I dreamed a dream, Street of London, Scarborough Fair ให้ความหมายที่ดีมากสำหรับการที่ได้เห็นได้รู้จักได้เรียนรู้โดยสามารถใช้จิต ซึ่งโดยส่วนมากเพลงลักษณะแบบนี้จะมีคลื่นความถี่ต่ำ เพื่อทำให้จิตสงบ มีสติ เกิดสมาธิ และปัญญา เป็นการเข้าถึงในระดับจิตสำนักของมนุษย์เรา

ข่าวต้นชั่วโมง การเป็นมหาวิทยาลัยมุกดาหาร

ข่าวต้นชั่วโมงศูนย์ข่าว สปข.2 วันที่ 11 กันยายน 2553 เวลา 11.10 น

ประชาชน จ.มุกดาหาร ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ผลักดันมหาวิทยาลัยมุกดาหาร

สำนักนายกรัฐมนตรี โดยสำนักงานร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย จัดโครงการเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย “ปฏิรูปประเทศไทยสัญจร:ภาคอีสาน” โดยได้ลงพื้นที่มายังจังหวัดมุกดาหาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มาจากหลากหลายกลุ่มสาขาอาชีพ ทั้ง ด้านหัตถกรรม เกษตรกรรม ท่องเที่ยว ประมง และอื่น ๆ ตามการประกาศเริ่มต้นแผนปรองดองแห่งชาติ ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการเชิญชวนประชาชน 63 ล้านคน “ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย” นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวในโอกาสที่ได้เดินทางลงพื้นที่มายังจังหวัดมุกดาหาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนว่า ข้อเสนอแนะที่ประชาชนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญ ๆ ทั้งการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชน การท่องเที่ยว การเกษตร สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านการเมืองการปกครอง ตลอดจนการพัฒนาระบบการศึกษาในพื้นที่ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปจัดทำพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศต่อไป โดยเฉพาะการผลักดันมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร ให้เป็นมหาวิทยาลัยมุกดาหาร ตามแนวทาง 1 จังหวัด 1 มหาวิทยาลัย/ส.ปชส.มุกดาหาร/ข่าว



อ้่างอิง 1. http://76.nationchannel.com/playvideo.php?id=111726
2. http://thainews.prd.go.th/view.php?m_newsid=255309100241&tb=N255309
3. http://www.prd2.in.th/index.php?option=com_docman&task=doc_details&gid=5982&Itemid=105


วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

Mukdahan U มหาวิทยาลัยมุกดาหารเฉลิมพระเกียรติ

วิทยาเขตมุกดาหาร กำลังประกาศรับสมัครอาจารย์ประจำสาขาบัญชี จำนวน 2 อัตรา

วิทยาเขตมุกดาหาร กำลังประกาศรับสมัครอาจารย์ประจำสาขาบัญชี จำนวน 2 อัตรา (เงินงบประมาณแผ่นดิน) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.ubu.ac.th/~ubustaff/documents/post_limit.pdf


วันศุกร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2553

โครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ

โครงการจัดตั้ง มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ
ขั้นตอน
๑. จังหวัดมุกดาหาร (โดยผู้ว่าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐอื่นๆ ภาคเอกชน ประชาชน และ วิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี) เสนอเรื่องความต้องการและโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ ต่อ สำนักคณะกรรมการการอุดมศึกษา รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ และคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบ (ซึ่งขั้นตอนนี้ จังหวัดมุกดาหาร อาจจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิต วงศ์หนองเตย) ที่จะเดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดมุกดาหารในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๒๕๓ ทั้งนี้ การจัดตั้งเป็นไปตามที่ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ว่า ๑ จังหวัด ๑ มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๓) โดยการปรับเปลี่ยนวิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็น มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในวโรกาสที่พระองค์จะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๕๔ และจะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลำดับ
๒. เมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ จะต้องมีการจัดทำ (ร่าง) พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. . . . เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร และ วุฒิสภา ตามลำดับ ซึ่งจะสามารถได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนในการดำเนินงานการเป็น มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ
ความหมายของสัญลักษณ์ มหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ


หอแก้ว หมายถึง จังหวัดมุกดาหาร
ภูผาเจีย หมายถึง สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยที่มีอาคารเฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา มหาราชา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จทรงวางศิลาฤกษ์อาคารดังกล่าว เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
สะพานข้ามแม่น้ำโขง หมายถึง การเชื่อมต่อต่างประเทศเพื่อความเป็นนานาชาติ (ลาว เวียดนาม จีน และอื่นๆ)
วงกลม ๒ เส้น วงกลมเส้นใน หมายถึง ความสัมพันธ์ของอาจารย์ เจ้าหน้าที่ นักศึกษา ข้าราชการ ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนของจังหวัดมุกดาหาร ที่มีความสัมพันธ์อันดีในการพัฒนาการศึกษาร่วมกัน วงกลมเส้นนอก หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยมุกดาหาร เฉลิมพระเกียรติ กับหน่วยงานภายนอกพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นช้างน้าว เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร และเป็นต้นไม้ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงปลูก ณ อาคารเทพรัตน์คุรุปการ จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒

สัญลักษณ์สัตว์นำโชคของมหาวิทยาลัย คือ ช้าง เนื่องจากชื่อเป็นของต้นไม้ประจำจังหวัดมุกดาหารและประจำมหาวิทยาลัย คือ ต้นช้างน้าว ดังนั้น สัญญลักษณ์สัตว์นำโชคของมหาวิทยาลัย คือ ช้าง สำหรับ ช้าง เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองเป็นสัญญลักษณ์ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่พระบรมมหากษัตรย์ของไทยในอดีตทรงใช้งานสำหรับพระราชกรณียกิจที่สำคัญ
สีน้ำเงินของเส้นวงกลมและตัวอักษร หมายถึง ความมั่นคง ความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
สีเหลืองของพื้นวงกลม หมายถึง ความอบอุ่น ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนทุกหมู่เหล่า และความอบอุ่นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อีกทั้ง เป็นสีของต้นช้างน้าว
จะเป็น มหาวิทยาลัยของชาวพื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำโขง (จังหวัดมุกดาหาร) ที่เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ในวโรกาสที่พระองค์จะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๔ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๕๔ และจะทรงเจริญพระชนมพรรษา ๙๐ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ ตามลำดับ เพื่อการพัฒนาพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงภายใต้การดำเนินงานตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
สาขาวิชาที่เปิดสอน จะเน้นสาขาวิชาตามยุทธศาสตร์ของจังหวัดมุกดาหาร คือ (๑) การค้าระหว่างประเทศ (๒) การท่องเที่ยว เป็นต้นว่า สาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ สาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชารัฐศาสตร์ (เพื่อท้องถิ่นและต่างประเทศ) สาขาวิชานิติศาสตร์ (เพื่อท้องถิ่นและต่างประเทศ) สาขาวิชาการจัดการทรัพยากรมนุษย์เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สาขาวิชาการจัดการพืชเศรษฐกิจพื้นที่ลุ่มน้ำโขง สาขาวิชาภาษาศาสตร์ (อังกฤษ จีน เวียดนาม) เป็นต้น ซึ่งที่สำคัญในอนาคตจะต้องเป็นมหาวิทยาลัยมุ่งเน้นความเป็นนานาชาติ ทั้งนี้ ในอนาคตจะเปิดสอนปริญญาโทและเอกการค้าระหว่างประเทศ โดยความร่วมมือกับ University of Melourne ออสเตรเลีย มหาวิทยาลัยของจีน มหาวิทยาลัยของ สสป.ลาว และมหาวิทยาลัยของเวียดนาม
เป้าหมายการรับนักศึกษา
๑. นักศึกษา จากลูกหลานของชาวจังหวัดมุกดาหาร (โดยได้รับทุนการศึกษาจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. ต่างๆ) และองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร) และนักศึกษาจากจังหวัดใกล้เคียงที่ยังไม่มีมหาวิทยาลัย เช่น อำนาจเจริญ ยโสธร เป็นต้น
๒. นักศึกษา จากต่างประเทศ เช่น เวียดนาม จีน ลาว โดยในเบื้องต้นอาจจะเป็นโครงการการแลกเปลี่ยนนักศึกษา อาจารย์ผู้สอนภาษาจีน ภาษาไทย และภาษาเวียดนาม เป็นต้น
มนูญ ศรีวิรัตน์

วันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การจัดทำแผน (วิทยาเขตมุกดาหาร)

วันที่ 6-8 สิงหาคม 2553 กองแผนงาน สำนักงานสภามหาวิทยาลัย วิทยาเขตมุกดาหาร และ สำนักคอมพิวเตอร์และเครือข่าย ได้ร่วมกันประชุมสัมมนาการจัดทำแผนงบประมาณ และ แผนปฏิบัติราชการ ประำจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
ดูรูปภาพเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/mukdahancampus

รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ บรรยายนโยบายของมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่าย และ แผนปฎิบัติราชการ

ผู้อำนวยการกองแผนงาน บรรยายการจัดทำโครงการ ตัวชี้วัด



วันอาทิตย์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

อุ้มพระขึ้นภู

เมือเวลา 07.10 น.วันที่ 23 กรกฏาคม 2553 ดร.สมหมาย ปรีชาศิลป์รองผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร เป็นประธานในพิธีปลูกต้นไม้เฉลิมพระเกียรติและลูกช้าวน้าว (นักศึกษา มหาวิทยาลัยอุบลฯ วิทยาเขตมุกดาหาร) อุ้มพระขึ้นภู โดยมี ดร.กุลภา โภคสวัสดิ์ รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีวิทยาเขตมุกดาหาร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้กล่าวรายงาน

โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติและโครงการลูกช้าวน้าวอุ้มพระขึ้นภู (ผาเจีย) มีจุดประสงค์ที่จะอนุรักษ์ธรรมชาติและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม เป็นการปลุกจิตสำนึกให้รู้จักการอนุรักษ์ธรรมชาติและวัฒนธรรมอันดีของไทย ที่นับวันเยาวชนเริ่มจะไม่ค่อยให้ความสนใจ อีกทั้งอนาคตอันใกล้บริเวณนี้จะได้เป็นสถานที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาเขตมุกดาหาร เพราะได้ข่าวว่ารัฐบาลอนุมัติงบประมาณลงมาแล้วและต่อไปสถาบันแห่งนี้ก็จะเป็นจุดศูนย์รวมของนักศึกษาที่จะมาเข้าศึกษา ต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไป และยังเป็นมหาวิทยาลัยที่จะรองรับนักศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนด้วย

















สืบเนื่องจาก ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนิน ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชา ณ ภูผาเจีย บริเวณพื้นที่แห่งนี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมานั้น ซึ่งอาคารดังกล่าวได้รับงบประมาณก่อสร้างจำนวน 261 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการสำรวจพื้นหินและคาดว่าบริษัทที่ชนะการประมวลราคาจะสามารถเริ่มลงมือก่อสร้างอย่างเป็นทางการประมาณเดือนสิงหาคม ที่จะถึงนี้

สำหรับ โครงการลูกช้างน้าวปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติและอุ้มพระขึ้นภู ในวันนี้ นั้น วิทยาเขตมุกดาหารได้จัดขึ้นเพื่อให้นักศึกษาใหม่และนักศึกษารุ่นพี่ได้ตระหนักถึงความสำคัญของที่ตั้งของวิทยาเขตแห่งนี้ ซึ่งจะเป็นมหาวิทยาลัยของชาวจังหวัดมุกดหารในอนาคต อีกทั้งได้ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาป่า อนุรักษ์ต้นไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการ การปลูกต้นไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร คือ ต้นช้างน้าว นอกจากนั้น ยังเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันศาสนาประจำชาติ คือ การอุ้มพระขึ้นภูผาเจีย โดยการจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

1. เพื่อให้นักศึกษาของวิทยาเขตมุกดาหารได้ตระหนักเห็นความสำคัญของที่ตั้งอาคารเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา มหาราชา ณ ภูผาเจีย อำเภอเมือง จังหวัดมุกดาหาร พร้อมทั้งแสดงความจงรักภักดีเฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

2. เพื่อให้นักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และ ประชาชนในจังหวัดมุกดาหาร ได้ดำเนินการกิจกรรมร่วมกันในการอนุรักษ์ต้นไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอนุรักษ์และปลูกต้นไม้ประจำจังหวัดมุกดาหาร คือ ต้นช้างน้าว โดยนักศึกษาของวิทยาเขตมุกดาหารทุกคน จะถูกเรียกว่า ลูกช้างน้าว อันจะทำให้นักศึกษาทุกคน เป็นลูกหลานของชาวมุกดาหาร

3. เพื่อให้นักศึกษา อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และ ประชาชนในจังหวัดมุกดาหาร ได้ดำเนินการกิจกรรมร่วมกันในการส่งเสริมพุทธศาสนา เนื่องในวันเข้าพรรษาที่จะถึงนี้

4. เพื่อเป็นการส่งเสริมกิจกรรมนักศึกษาใหม่ของวิทยาเขตมุกดาหารในการเสริมสร้างสุขภาพ พลังกาย และพลังใจในการเริ่มต้นศึกษาใหม่ ซึ่งจะกระทำเป็นประเพณีทุกๆ ปี ต่อๆ ไป ในอนาคต

สำหรับ พระพุทธรูป อุ้มขึ้นภูในครั้งนี้ มี รายละเอียดดังนี้

พระ ปางนาคปรก ชื่อ ว่า พระพุทธมุกดานาคราช ซึ่ง เป็นพระพุทธรูปประจำวันเสาร์ เนื่องจาก สภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้อนุมัติให้จัดตั้ง เป็นวิทยาเขตมุกดาหาร เมื่อวันเสาร์ที่ 19 เมษายน 2551 อีกทั้ง เมื่อต้นปีที่ผ่านมานั้นได้มีปรากฏการณ์พญานาคเล่นน้ำที่จังหวัดมุกดาหารซึ่งเป็นสิริมงคลต่อชาวจังหวัดมุกดาหาร โดยพระพุทธรูปมีพญานาคแผ่หัว จำนวน 7 หัว จากไหล่ไปปรกพระเศียร นั้น เป็นการบ่งบอกหรือแสดงว่า นักศึกษาของวิทยาเขตมุกดาหารจะต้องร่วมกันบำรุงพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งการเรียนรู้ด้านการศึกษา เป็นประจำทุกวัน โดยในรอบสัปดาห์ คือ 7 วัน

ทั้งนี้ หน้ากว้างขององค์พระมีขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว เป็นแสดงความจงรักภักดีแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงพระเมตตาแก่พสกนิกรชาวไทย